มท.3 ห่วงใยประชาชนริมตลิ่งแม่น้ำโขง ลงพื้นที่อำนาจเจริญ ติดตามการดำเนินโครงการกรมโยธาธิการและผังเมือง

วันนี้ (15 ต.ค.2563) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช. มหาดไทย (มท.3) พร้อมด้วย นายสุกรี มะเต๊ะ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะทำงานฯ ลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญเพื่อติดตามการดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง” อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมี นายปรพล เจริญพงษ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ บรรยายสรุปโครงการ และประชาชนในพื้นที่ร่วมต้อนรับ

นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า กระแสน้ำที่กัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำอย่างรุนแรงในแต่ละปีส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ อาคาร บ้านเรือน วัด โรงเรียน โบราณสถาน สถานที่ราชการที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำชายแดน ตลอดจนระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งการสูญเสียดินแดน ในกรณีที่เป็นแม่น้ำกั้นเขตแดนระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อแนวเขตแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง” อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นหนึ่งในภารกิจด้านการพัฒนาเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งอยู่ในแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง ซี่งกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้กรมฯ เร่งดำเนินงานโครงการต่างๆ เน้นการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน และเพื่อรักษาดินแดนให้กับประเทศชาติ

ด้านนายปรพล เจริญพงษ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง” อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ดำเนินโครงการตั้งแต่บ้านชานุมาน หมู่ที่ 1 ถึงบ้านโนนสำราญ หมู่ที่14 (ต่อเนื่องเขื่อนเดิม ปี 57 ท้ายน้ำ) ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ความยาว 150 เมตร และช่วงที่ 2 ความยาว 274 เมตรความยาวรวม 424 เมตร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565 หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่พี่น้องประชาชน และประเทศชาติ อันได้แก่ 1. ป้องกันแนวชายแดน รักษาอาณาเขตประเทศในแม่น้ำชายแดน 2. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวลำน้ำตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ

3.ป้องกันทรัพย์สินของประชาชน ศาสนสถาน สถานที่ราชการและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จากการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำ 4. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบต่อการพังทลายของตลิ่งทั้งทางตรงและทางอ้อม 

5.เสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพังทลายของตลิ่ง 6. ลดปัญหาการตื้นเขินของลำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของแนวลำน้ำ ลดปัญหาอุทกภัย และ 7. อนุรักษ์และรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน ธรรมชาติริมแม่น้ำให้คงอยู่ตลอดไป