“พาณิชย์” เดินหน้าแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ คาดยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ยุคดิจิทัล

  • กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ ขยายอายุความคุ้มครองงานภาพถ่าย
  • ให้สิทธิ ISP สามารถถอดงานละเมิดจากเว็บไซต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล-เพิ่มการเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮ็กงานลิขสิทธิ์
  • คาดช่วยแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่ออินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
  • ส่งเสริมงานลิขสิทธิ์ ยกระดับความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องมาตรฐานสากลและช่วยสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนในประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป สำหรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้ปรับปรุง 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) กำหนดข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยนำวิธีแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) มาใช้ ซึ่งหากเจ้าของสิทธิพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP ให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล (2) ปรับปรุงมาตรการการละเมิดทางเทคโนโลยี โดยเพิ่มการเอาผิดผู้ผลิตหรือจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮ็กงานลิขสิทธิ์ และ (3) ขยายระยะเวลาการคุ้มครองภาพถ่าย ซึ่งเดิมให้ความคุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ผลงาน โดยปรับเป็นการให้ความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์เสียชีวิต”

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประโยชน์ของการปรับปรุงร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างกลไกการคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับความคุ้มครองผลงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ ตลอดจนสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุน

รวมไปถึงการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไปเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกกฎหมาย ลำดับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติภายใต้ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ดังกล่าวต่อไป”