พาณิชย์เผยเบื้องลึกสหรัฐฯตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย

  • เอ็นจีโอไทย-มะกันเสนอ”เอเอฟแอล-ซีไอโอ”กดดันรัฐบาลตัดสิทธิไทย
  • วอนอย่าโยงแบน3สารเคมีอันตรายเหตุเป็นคนละเรื่อง
  • จับตาอาจถูกตัดสิทธิเพิ่มถ้าไทยไม่นำเข้าหมูมีสารเร่งเนื้อแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กรณีที่สหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าจากไทยบางส่วน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น ไม่ใช่เป็นการตอบโต้กรณีที่รัฐบาลไทยประกาศห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิดจากสหรัฐฯ คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่เป็นการพิจารณาตามการร้องเรียนจากภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) ของสหรัฐฯเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (เอเอฟแอล-ซีไอโอ) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ยื่นเรื่องให้ยูเอสทีอาร์พิจารณาตัดสิทธิไทย เพราะไทยไม่ให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

ซึ่งการยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าวของเอเอฟแอล-ซีไอโอ เกิดขึ้นหลังจากที่เอ็นจีโอด้านแรงงานของไทย และเอ็นจีโอด้านแรงงานของสหรัฐฯที่มีสาขาในไทย เห็นว่าไทยไม่ให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่มากพอ จีงได้ร่วมกันเสนอให้เอเอฟแอล-ซีไอโอ กดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯตัดสิทธิจีเอสพีไทย

ทั้งนี้ เมื่อเอเอฟแอล-ซีไอโอได้ยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว ยูเอสทีอาร์ได้ใช้เวลาในการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิกับไทยตามกระบวนการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งประกาศผลการทบทวนเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น การตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากการแบน 3 สารแน่นอน และอย่านำมาโยงเป็นเรื่องเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา กรณีที่สหรัฐฯกดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯอีก ที่ขณะนี้ไทยยังไม่เปิดนำเข้า และคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า การบริโภคหมูมีสารเร่งเนื้อแดงจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า หากพบว่าอันตราย และไทยอาจไม่เปิดนำเข้า สหรัฐฯอาจใช้เป็นข้ออ้างตัดจีเอสพีสินค้าจากไทยเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต เพราะในช่วง 1-2 ปีก่อน สมาคมผู้ส่งออกสุกรของสหรัฐฯก็ได้ยื่นเรื่องให้ยูเอสทีอาร์พิจารณาตัดจีเอสพีไทยแล้ว โดยอ้างไทยไม่สมควรได้รับสิทธิ เพราะจำกัดการเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ