ผู้ว่าธปท.เผย 2 กระแสโลกใหม่ แนะธุรกิจ-ประชาชนวางแผนการเงิน-บริหารความเสี่ยงให้ดี

วันที่ 27 ก.ย.2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษในการ ประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท. ) ในรูปแบบ Virtual Conference ภายใต้หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด” ว่า ขณะที่ทั่วโลกรวมถึงไทยยังอยู่ระหว่างการปรับตัวรองรับผลประทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้นยังจำเป็นที่ไทยต้องเร่งวางรากฐานในอนาคตไว้ให้กับเศรษฐกิจและธุรกิจไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้าที่ต้องรองรับกระแสใหม่ของโลกอย่างน้อย 2 เรื่องได้แก่ กระแสดิจิทัล ที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆมากขึ้นในการทำธุรกิจ มีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องดิจิทัลมากขึ้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ต่อทุกภาคส่วน และกระแสแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้

“ กระแสสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบเร็วมากหากเราไม่เร่งปรับตัวเพราะ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อน แต่จะรวมถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนของประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือ กรณีที่สหภาพยุโรปได้ออก European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บตาม carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ถ้าเราไม่ปรับตัว เช่น สินค้าส่งออกยังมี carbon footprint มาก เราก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ดังนั้น 2 กระแสเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวโดยภาคธุรกิจต้องวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง การลงทุนใหม่ควรให้น้ำหนักกับกระแสโลกใหม่มากขึ้น”ผู้ว่าธปท.กล่าว

ส่วนประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้ ส่วนภาครัฐเอง ต้องปรับตัวไปสู่การเป็น facilitator โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น และในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิดนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายแบบ countercyclical เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน

“ ธปท. เองเราก็ได้ปรับตัวเช่นกัน เราเคยผ่านวิกฤตที่หนักหน่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติปี 2540 วิกฤติการเงินโลกปี 2551 วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 และมาถึงวิกฤตรอบนี้ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าหนักกว่ารอบก่อน ๆ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะผ่านพ้นไปได้อีกครั้ง เพราะมีความเข้มแข็ง สามารถปรับตัวได้เร็ว ผมจึงเชื่อว่า ท้ายที่สุดเราจะผ่านพ้นจากวิกฤตินี้ไปได้ หากเราจะพ้นจากวิกฤตินี้ ในแบบที่ให้คนรอดมากที่สุด ลดแผลเป็นให้เหลือน้อยที่สุด สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่แต่ละภาคส่วนทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้อง หันหน้าเข้าหากัน การประนีประนอมกันมากขึ้น และมองให้รอบด้าน จะทำให้เราเห็นทางออกในการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อีกครั้ง”ผู้ว่าธปท.กล่าว