ปลัด มทจับมือบิ๊กโจ๊ก ป้องกันปราบปราม ยกระดับศูนย์บูรณาการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 

  • บูรณาการทุกภาคส่วนประชุมขับเคลื่อน
  • แนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ
  • มุ่งแก้ไข ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยได้กำหนดให้นโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป พร้อมทั้งขับเคลื่อนยกระดับแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติของไทย อันเป็นการส่งเสริมหลักมนุษยธรรมของคนในชาติ พร้อมทั้งได้สั่งการกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการพลังความร่วมมือร่วมกัน ทั้งฝ่ายปกครอง หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ ทหาร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเพื่อเสริมเกราะในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นเหยื่อจากปัญหาด้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานเป็นบุคคลชาติใดก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาบนผืนแผ่นดินไทย ไทยก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการประชุมซักซ้อมแนวทางฯ ในวันนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไข ป้องกัน ปราบปราม ปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น อย่างพร้อมเพียงกัน

ทั้งนี้การจะดำเนินงานเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ผลดี ไม่เพียงแต่การดำเนินงานของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายความมั่นคงที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเท่านั้น แต่ภาคีเครือข่ายด้านการข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคีเครือข่ายด้านการข่าวระดับพื้นที่เป็นกลไกที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในด้านการให้การสนับสนุน ดูแลสอดส่อง เพื่อช่วยกันสังเกตและรายงาน นำไปสู่การปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสอดส่อง ดูแล ในพื้นที่ผ่านทางช่องทางสายด่วน 1567 และสายด่วน 191 เพื่อสื่อสารแจ้งเหตุ พร้อมทั้งสั่งการให้กรมการปกครอง ดำเนินการผลิตสื่อเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ “หอกระจายข่าว” รวมถึงทุกช่องทางสื่อสารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของสถานประกอบการ โรงงาน ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้อำนวยการให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานและฝ่ายปกครองในพื้นที่ ช่วยกันเอาใจใส่ดูแล ไปตรวจเยี่ยมสังเกตการณ์ ไปดูให้เห็นกับตา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคึกคัก ความทุ่มเทในการขับเคลื่อน และอีกส่วนที่สำคัญ คือ “โรงเรียน” โดยเฉพาะจังหวัด อำเภอ ที่มีโรงเรียนที่มีหอพัก ต้องหมั่นไปเยี่ยมเยียนและสอดส่องดูแล ลงไปพูดคุย ไปหารือกับท่านผู้บริหารสถาบันการศึกษาให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลลูกหลานให้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีมาตรฐาน ไม่ให้เกิดปัญหาการใช้กำลัง ความรุนแรง การกดขี่ ควบคู่ไปกับการตรวจติดตามในด้านอื่น ๆ

“ในส่วนของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยขั้นสูงสุด และดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสูงสุด ดังนั้น พวกเราข้าราชการทุกคน ต้องเป็นต้นแบบอันดีงามในการประพฤติตนที่เหมาะสม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือการใช้บังคับแรงงานที่ผิดกฎหมาย เฉกเช่นหัวใจของการประชุมในวันนี้ เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ผ่านการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในการปรับปรุงแก้ไข โดยมี “ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ” เป็นผู้นำในการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเข้มข้นในการนำ “ทีมจังหวัด” “ทีมอำเภอ” ร่วมกันปลุกพลังสร้าง “ทีมตำบล” “ทีมหมู่บ้าน” ให้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทั้งไทยและต่างชาติ ให้ได้รับโอกาสที่ดีในชีวิตสร้างสรรค์สิ่งที่ดี Change for good ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ต่างมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างเต็มกำลังร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคราชการภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน ในการช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า  ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งสถานที่ และมีการดำเนินแนวทางการปฏิบัติอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการซักซ้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการหมดไป ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของกลไกการส่งต่อระดับชาตินี้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยเป็นกำลังสำคัญในการคงความดีนี้ไว้ต่อไป และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และเราจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง สร้างความผาสุกให้กับสังคมไทยและโลกใบนี้อย่างยั่งยืน

พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนองคาพยพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการซักซ้อมแนวทาง NRM กับสถานีตำรวจทั้ง 1,484 แห่งครบทุกสถานี ในทุกกองบังคับการ และกองบัญชาการภาค ทั่วทั้งประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สตช. จะรับผิดชอบใน 3 เรื่องคือ 1) การรับแจ้งเหตุ การเผชิญเหตุ 2) การคัดกรองเบื้องต้น และ 3) การคัดแยกเหยื่ออย่างละเอียด และการบริหารจัดการคดี เพื่อสนับสนุนบทบาทท่านผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

“ขอชื่นชม จังหวัดสตูล จังหวัดชุมพร และจังหวัดตาก ที่สามารถทำให้สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ และสามารถดูแลเหยื่อที่ได้รับความเสียหายจากการมนุษย์ที่สอดคล้องกับ NRM ทำให้วันนี้กลไก NRM ในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ได้ดำเนินการอย่างครบกระบวนงาน และค่ำนี้จะเดินทางไปชี้แจงการค้ามนุษย์ให้กับทางสหรัฐอเมริกาทราบ โดยจะนำกลไกเหล่านี้ที่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนและมาตรการต่าง ๆ ไปชี้แจง โดยผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้เราขยับอันดับจาก tier 2.5 เป็น tier 2 ซึ่งผลการปฏิบัติในปีนี้จะทำเรายังรักษาระดับได้ เพื่อปีหน้าจะไปสู่เป้าหมายขยับไปเป็น tier 1 ด้วยผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการคุ้มครองเหยื่อ การเยียวยา และการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกลไก NRM”

นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ได้กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากสหรัฐอเมริกา โดยให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อให้ดีขึ้น ซึ่งได้มีการเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินการจัดหาสถานที่รองรับเพื่อคุ้มครองและคัดแยก ในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยศูนย์บูรณาการคัดแยกนั้น ต้องเป็นไปตามหลักการ คือ มีการแยกชาย หญิง และเพศทางเลือก โดยจัดให้มีปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครองและสมาชิก อส.หญิง ดูแลพื้นที่ที่เป็นที่พักของแรงงานต่างด้านหญิง มีการจัดสมาชิก อส.ชายดูแลความปลอดภัยพื้นที่รอบนอก มีการปฏิบัติงานประจำวันตาม SOP หรือตามที่ทีมสหวิชาชีพกำหนด รวมถึงเข้มงวดกวดขันในการดำเนินงานที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยในเบื้องต้น พร้อมทั้งได้มีการดำเนินงานโครงการยกระดับศูนย์บูรณาการคัดแยก 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1. จ.เชียงใหม่ 2. จ.ตาก 3. จ.กาญจนบุรี 4. จ.สมุทรสาคร 5. จ.ประจวบคีรีขันธ์ 6. จ.ระนอง 7. จ.สงขลา 8. จ.สระแก้ว 9. จ.หนองคาย และ 10. จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นรูปแบบมาตรฐานและเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีศูนย์บริหารครบทุก 76 จังหวัด และความก้าวหน้าในขณะนี้ ทุกจังหวัดได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยกตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (NRM) เพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางที่กำหนดต่อไป