นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนา‘โปรตีนชนิดใหม่’ ช่วยลวงโควิด-19สกัดกั้นเชื้อโรค

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงาน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการแพทย์นอร์ทเวสเทิร์น เมดิซิน (Northwestern Medicine) ได้ร่วมกันพัฒนาโปรตีนชนิดใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวลวงในการยับยั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในออร์แกนอยด์ที่มีลักษณะคล้ายไตของมนุษย์ ซึ่งเป็นอวัยวะจำลองขนาดเล็กที่สร้างขึ้นจากเซลล์ต้นกำเนิดในห้องปฏิบัติการ

โปรตีนชนิดนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของโปรตีนเอซีอี2 (ACE2) ซึ่งเป็นตัวรับที่เปิดทางให้โควิด-19 เข้าสู่เซล์และแพร่เชื้อในเซลล์มนุษย์ โดยโปรตีนที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะช่วยสกัดกั้นโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนา และหลอกให้จับกับมันแทนที่จะจับกับตัวรับโปรตีนเอซีอี2 จริงในเยื่อหุ้มเซลล์มนุษย์

คณะวิจัยได้ศึกษาโปรตีนเอซีอี2 เป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการรักษาโรคไต โดยพวกเขามีโปรตีนเอซีอี2 ชนิดย่อยต่างๆ ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมชีวภาพ ที่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (NU) ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถปรับให้เข้ากับการรักษาโรคโควิด-19 ได้ด้วยการสกัดกั้นไวรัสโคโรนาไม่ให้ไปจับกับตัวรับโปรตีนเอซีอี2 ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในเยื่อหุ้มเซลล์มนุษย์

ทั้งนี้โปรตีนชนิดใหม่ดังกล่าวถูกทดสอบในอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายไตของมนุษย์ เนื่องจากสัตว์จำพวกหนูมีความต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

แดเนียล แบทเลอร์ ผู้นำวิจัย ซึ่งเป็นศาสตราจารย์จากวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และแพทย์ของสถาบันการแพทย์นอร์ทเวสเทิร์น เมดิซิน ระบุว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์แนวคิดที่ว่าโปรตีนเอซีอี2 จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ในมนุษย์

“แม้ว่าการฉีดวัคซีนในวงกว้างจะเป็นวิธีต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุด แต่เรายังคงจำเป็นต้องใช้แนวทางรักษาอื่นๆ เพื่อการป้องกันและการรักษาผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่รับวัคซีนแล้วแต่ได้ผลไม่สมบูรณ์” แบทเลอร์กล่าว โดยคณะวิจัยกำลังวางแผนศึกษาด้านความปลอดภัยที่จำเป็นในระยะต่อไป ก่อนที่จะยื่นขออนุมัติยาใหม่เพื่อศึกษาในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในอนาคต

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารสมาคมโรคไตอเมริกัน (Journal of the American Society of Nephrology) ส่วนสถาบันการแพทย์นอร์ทเวสเทิร์น เมดิซิน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ดูแลสุขภาพนอร์ทเวสเทิร์น เมโมเรียล (NMHC) และวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ซึ่งครอบคลุมการวิจัย การสอน และการดูแลผู้ป่วย