ธ.ก.ส. ลุย 2 มาตรการพยุงราคาข้าว วงเงินกว่า 4.4 หมื่นล้าน

ธ.ก.ส. พร้อมขับเคลื่อนมาตรการพยุงราคาข้าว ปีการผลิต 2566/67 ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาในการชะลอการขายข้าวเปลือกออกสู่ตลาด

  • พร้อมรักษาเสถียรภาพราคาข้าวผ่านสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวมกว่า 3.4 หมื่นล้าน
  • รัฐรับภาระชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว วงเงินรวม 1 หมื่นล้าน
  • สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บ และรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาทต่อตัน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ฤดูกาลผลิตปี 2566/67 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 โครงการ วงเงินรวมกว่า 44,000 ล้านบาท ได้แก่ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 34,437 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ เป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จำนวน 4.68 ครัวเรือน และดูดซับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน

โดยมีชนิดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว

ทั้งนี้ สำหรับข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกิน 0.5% (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 11,400 – 12,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 9,900 – 10,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 9,000 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุมธานี 10,000 บาท/ตันและข้าวเหนียว 10,000 บาท/ตัน โดยเกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตันกรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 จนถึง 31 ก.ค. 2567 สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถขอสนับสนุนสินเชื่อ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชน แห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 ก.ย. 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555