ดาวโจนส์ปรับลดลงกว่า 400 จุด ท่ามกลางบรรยากาศซื้อขายผันผวน

  • นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. วิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย
  • ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดี เป็นปัจจัยบวกหนุนตลาด
  • ดัชนีราคาบ้านในสหรัฐดีดตัวขึ้นในเดือนก.พ. สะท้อนกำลังซื้อแข็งแกร่ง

เมื่อเวลาประมาณ 22.05 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,632.41 จุด ลดลง 417.05 จุด หรือ -1.22% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 12,641.93 จุด ลดลง 362.92 จุด หรือ -2.79% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ4,225.93 จุด ลดลง 70.19 จุด หรือ -1.63%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวผันผวน โดยดิ่งลงอีกครั้ง หลังปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นวานนี้ ท่ามกลางความกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และระบุว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543 โดยตลาดยังกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นหลังเดือนพ.ค. โดยอาจปรับขึ้น 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยบริษัทจดทะเบียน 102 แห่งในดัชนี S&P 500 ได้รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกแล้ว โดย 77.5% ในจำนวนดังกล่าวมีกำไรสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล หลังจากปิดตลาดวันนี้ ส่วนบริษัทแอปเปิล, แอมะซอน รวมทั้งบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ หรือเฟซบุ๊ก จะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้

ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านในสหรัฐดีดตัวขึ้นในเดือนก.พ. โดยดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 19.8% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 19.1% ในเดือนม.ค.

ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ พุ่งขึ้น 20.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 18.9% ในเดือนม.ค. ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองฟีนิกซ์ แทมปา และไมอามี

ด้านผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 107.3 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 108.0 จากระดับ 107.6 ในเดือนมี.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ชะลอตัวลง แต่ความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงมีความแข็งแกร่ง