ดัชนีดาวโจนส์ ยังไปต่อไม่หยุด เปิดตลาดเดินหน้าทำนิวไฮท์

  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทดสอบ 3,000 จุดอีกครั้ง
  • นักลงทุนยังฮึกเหิมซื้อหุ้นรอรับเฟดลดดอกเบี้ย
  • สอดคล้องดัชนีราคาผู้ผลิต มิ.ย.เพิ่มแค่0.1%

“ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท” ยังคงคึกคัก หลังจากแน่ใจมากขึ้นว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC ) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมในช่วงสิ้นเดือนนี้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2551

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เดินหน้าทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง หลังจากปิดทะลุ 27,000 จุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในวันก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 กลับไปทำสถิติเหนือ 3,000 จุดอีกครั้ง ขณะที่แนสแด็กส์ คอมโพซิท ดัชนีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

โดยเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวอยู่ที่ 27,220.92 จุด เพิ่มขึ้น +132.84 จุดหรือเพิ่มขึ้น +0.49% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 กลับมายืนเหนือ 3,000 จุดอีกครั้ง โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 3,004.57 จุด บวกเพิ่ม +4.66 จุด หรือ +0.16% ส่วนดัชนีแนสแด็กส์ คอมโพซิท เดินหน้าเขียวหลังจากที่ชะลอตัวในวันก่อนหน้า โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 8,212.23 จุด +16.19 หรือเพิ่มขึ้น 0.16%

ในการสำรวจล่าสุด พบว่า FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 30-31 ก.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 77.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 22.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00%

ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจตอกย้ำโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ย เมื่อกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้นเพียง 1.7% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2560 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ค.

โดยดัชนี PPI ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงเป็นเดือนที่ 2 ของราคาพลังงาน แม้ว่าค่าใช้จ่ายในภาคบริการปรับตัวขึ้น

ทั้งนี้ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นกลุ่มสุขภาพ และหุ้นเชิงพาณิชย์ เป็นกลุ่มที่ปรับขึ้นนำตลาด หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ราคาหุ้นปรับขึ้น 2.50% หุ้นไมครอน เทคโนโลยี ปรับขึ้น 1.4% หุ้นแอปเปิล ยังขึ้นต่อที่ 1.6% ขณะที่หุ้นไฟเซอร์ ยังได้รับผลกระทบจากแนวทางการควบคุมราคายา ที่ยังไม่ชัดเจน โดยปรับลดลง 1.71%