คว่ำบาตรรัสเซียฟาดหางถล่มเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก

  • ทูตพาณิชย์ไทยในรัสเซียชี้เหตุราคาพลังงาน-สินค้าหลายตัวพุ่ง
  • ห่วงโซ่ผลิต-ขนส่งปั่นป่วนส่งผลสินค้าจำนวนมากขาดแคลน
  • เงินเฟ้อทะยาน-กำลังซื้อหดทำเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก รัสเซีย เปิดเผยว่า ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ธนาคารโลก, สถาบัน Keil ของเยอรมนี ฯลฯ กังวลว่า ผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯและพันธมิตรชาติตะวันตก มีต่อรัสเซีย จะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อมได้

“ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่จะเกิดขึ้นกับไทย เช่น ราคาพลังงาน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น, ขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต และราคาสินค้าแพงขึ้น, ปัญหาส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ทั้งความสามารถในการชำระค่าสินค้าในรูปเงินสกุลหลัก และการขนส่งที่สายการเดินเรือ สายการบินไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ รวมถึงการถูกบังคับจากประเทศตะวันตก ไม่ให้ประเทศทั่วไปทำการค้ากับรัสเซีย ดังนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยชะลอทำการค้ากับรัสเซีย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และรอดูสถานการณ์จนกว่าปัจจัยต่างๆ จะมีความชัดเจน และสร้างความมั่นใจได้มากกว่านี้”

สำหรับผลกระทบที่เกิดจากมาตรการคว่ำบาตร เช่น การค้าระหว่างประเทศ ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 กำลังจะได้รับผลกระทบอีกครั้ง, ปัญหาห่วงโซ่การผลิตสินค้ารุนแรงมากขึ้น เพราะเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ยุโรปที่ผ่านรัสเซียและได้รับความนิยมมากในปีที่ผ่านมา และท่าเรือสำคัญ กำลังถูกยกเลิกจากลูกค้าในยุโรป อีกทั้งเรือบรรทุกน้ำมันและเรือบรรทุกสินค้าหลายร้อยลำถูกเปลี่ยนเส้นทางจากท่าเรือรัสเซียและยูเครนในทะเลดำ ทำให้มีเรือติดค้างที่ท่าเรือและกลางทะเลจำนวนมาก ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าขาดแคลน การค้าหยุดชะงัก ราคาสินค้าพุ่ง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก โดยนักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการทั่วโลก จะไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งหลายสินค้า ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะรัสเซีย และยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ โดยข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 31%, ราคาน้ำมันคาโนลา และน้ำมันดอกทานตะวันพุ่งขึ้นมากกว่า 60% และราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนผลักดันต้นทุนปุ๋ยให้สูงขึ้น

“นักวิเคราะห์หลายค่ายมองว่า การคว่ำบาตรของตะวันตกต่อมอสโก จะทำให้ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นไปอีก เพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารและปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจนอาจจ่ายไม่ไหว และเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำ ได้แก่ ธัญพืช น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โลหะ แร่ธาตุ แร่หายาก ไม้ และพลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบให้ทั่วโลกใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่ผู้ผลิตเหล็กไปจนถึงรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์”

นอกจากนี้ โลกยังต้องเผชิญกับผลจากมาตรการโต้กลับของรัสเซีย ที่ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้สั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคม การแพทย์ รถยนต์ การเกษตร ไฟฟ้า และเทคโนโลยี รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น รถไฟ ตู้คอนเทนเนอร์ กังหันลม จนถึงสิ้นปี 65 รวมกว่า 200 รายการ และหากรัสเซียตัดการจ่ายน้ำมันและก๊าซไปยังยุโรป ราคาพลังงานก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจของยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย