ครม.ตั้ง “ไพรินทร์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรูปแบบใหม่บริหารเศรษฐกิจ ตามโมเดลศบค.

  • ผุดศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ
  • พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน
  • แก้ความเดือดร้อนประชาชน 76 จังหวัด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) เรียกโดยย่อว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีคณะกรรมการรวม 22 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และกรรมการเช่น รองนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา รมว.เกษตรและสหกรณ์ฯ รมว.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สมาคมธนาคารไทย โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นเลขานุการ โดยให้จัดทำแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

รัชดา ธนาดิเรก

ขณะเดียวกัน เพื่อให้กลไกการบริหารเศรษฐกิจเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้การบริหารของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีกรรมการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ สศช. เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงต่างๆ เช่น คลัง ต่างประเทศ ท่องเที่ยวและกีฬา เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม พาณิชย์ แรงงาน มหาดไทย อุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ว่าการ ธปท.

โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ในการการขับเคลื่อนและเร่งรัดส่วนให้ราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับนโยบาย แนวทางและมาตรการรัฐบาลไปปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการตามโยบายรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งกลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการขับคลื่อนการดำเนินการภายใด้กรอบการบริหารเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ และประสานความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การต่างประเทศหรือระหว่างประเทศหน่วย งานหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ยังมีคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) 2.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว 3.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ตามบัญชาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในการทำงานระบบ นิวนอร์มัล หรือรูปแบบใหม่ โดยจะมีคณะกรรมการทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด โดยระดับประเทศมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เพื่อติดตามเร่งรัด ช่วยเหลือ เยียวยาและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่เร่งด่วน ส่วนคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยให้รัฐมนตรี 29 คนเป็นที่ปรึกษา โดยไม่แทรกแซง และให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง เพื่อนำมาเสนอต่อ ครม.แก้ไขปัญหาเร่งด่วน ซึ่งจะมีการแบ่งรัฐมนตรี 1 คนดูแล 2 จังหวัด

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากที่แบ่งพื้นที่ให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล จะได้ตั้งรัฐมนตรีลงไปในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบโครงการที่อนุมัติไปแล้ว มีความล่าช้าหรือเกียร์ว่างหรือเปล่าและให้มารายงานให้ตนเองทราบ เพื่อตอบสนองความต้องการและรับความคิดเห็นของประชาชนในระดับพื้นที่ได้ดีที่สุด การที่รัฐบาลไปฟังปัญหาเองทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะห่างจากพื้นที่ต้นทาง จึงต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคัดกรอง มีรัฐมนตรีเสนอมา แต่ละส่วนจะไปแก้ปัญหาประชาชนแต่ละพื้นที่ ไม่อย่างนั้นปัญหาก็จะมากระทบกับรัฐบาลทันที แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ก็จะพอกพูนไปเรื่อยๆ