การบินไทยเดินหน้าเต็มสูบตั้ง4บริษัทลูกปั้นรายได้

การบินไทยเดินหน้าตั้ง 4 บริษัทลูก “ครัวการบิน-ฝ่ายช่าง-คาร์โก้-ภาคพื้น”ลั่น!เปิดกว้างพันธมิตรทั่วโลกเข้ามาร่วมทุน มั่นใจนำร่องได้ก่อน 2 บริษัทในปี 67 ”คาร์โก้-ครัวการบิน”เชื่อมั่นปรับโครงสร้างทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ลดความซ้ำซ้อน ขณะที่การบินไทยจะเป็นบริษัทแม่ที่คอยกำกับดูแลไม่ได้ขาดจากกัน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะที่การบินไทยอยู่ในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯนั้น การบินไทยจะยังคงเดินหน้าที่จะปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก (Business Unit) ออกเป็น 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ครัวการบิน 2.บริษัท ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (ฝ่ายช่าง) 3.บริษัท บริการภาคพื้น 4.บริษัท ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) อย่างไรก็ตามการจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 4 ดังกล่าว การบินไทยจะเปิดกว้างให้เอกชนจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์ สนใจเข้ามาร่วมลงทุน เบื้องต้นบริษัทลูกที่สามารถดำเนินการจัดตั้งและดำเนินการได้ก่อนคือ บริษัท ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และ บริษัท ครัวการบิน คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 67


สำหรับบริษัทลูกที่สามารถดำเนินการได้ก่อนมี 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และ บริษัท ครัวการบิน ซึ่งจากที่ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดมา ในช่วงนั้นไม่สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ ทำให้การบินไทยเห็นว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศสามารถสร้างรายได้ได้ดี แต่ในขณะนั้นการบินไทยไม่มีเครื่องบินที่จะขนส่งสินค้าทั้งลำโดยเฉพาะ การขนส่งจะอาศัยขนจากท้องเครื่องเป็นหลัก แต่หากมีการแยกบริหารการจัดการที่ชัดเจนก็จะต้องมีการจัดหาเครื่องบินที่จะต้องขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ และ ปรับตามเส้นทางบินที่ลูกค้ามีความต้องการขนส่งสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านตันต่อปี


นอกจากนั้นในส่วนของการจัดตั้ง บริษัท ครัวการบิน จะแบ่งส่วนงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ครัวที่ขายออกร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป เช่น ร้านพัฟท์ แอนด์ พาย ,จัดเลี้ยง และ ครัวที่ทำอาหารส่งขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเมื่อแยกทั้งสองส่วนจะทำให้การบริหารจัดการง่าย และ สะดวกขึ้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของการบินไทยจะเป็นการบินไทย และ ลูกค้าสายการบินที่อยู่ในกลุ่ม สตาร์อัลไลแอนซ์ รวมถึงลูกค้าสายการบินที่บินเข้าออกประเทศไทย


นายชาย กล่าวต่อว่า ส่วนบริษัท ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (ฝ่ายช่าง)นั้นขณะนี้แน่นอนว่า การบินไทยจะลงทุนแน่นอนเพื่อรองรับการซ่อมเครื่องบินของการบินไทยเอง และ เครื่องบินของสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ภายใต้โครงการ ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO)ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 – 4 เดือนนี้ เนื่องจากโครงการนี้เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว


ขณะดียวกันการบินไทยพร้อมหาพันธมิตรร่วมทุนจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจศูนย์ซ่อม เงินทุน รวมถึงมีฐานลูกค้าในมือ เพื่อมาลงทุนร่วมกัน ล่าสุดมีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติสนใจร่วมลงทุนกับการบินไทยในโครงการนี้ และสอบถามข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งนอกจากการมีพันธมิตรสนใจแล้ว ในส่วนของเงินทุนของการบินไทยที่จะดำเนินการในโครงการก็มีเพียงพอ เนื่องจากขณะนี้มีเงินสดในมือกว่า 50,000 ล้านบาท


นายชาย กล่าวต่อว่า ส่วน บริษัท บริการภาคพื้น นั้นปัจจุบันการบินไทยดำเนินการอยู่โดยส่วนมากลูกค้ากว่า 80%จะเป็นสายการบินไทยเป็นหลักและที่เหลือเป็นสายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งขณะนี้ได้ปรับการบริการ เพิ่มบุคคลากรเพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่มาใช้บริการ อย่างไรก็ตามการจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 4 บริษัท เมื่อดำเนินการได้ตามเป้าหมายจะช่วยให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ลดความซ้ำซ้อน ขณะที่การบินไทยจะเป็นบริษัทแม่ที่คอยกำกับดูแลไม่ได้ขาดออกจากกัน