กรมเจ้าท่ายกเครื่องท่าเรือใน กทม.-ปริมณฑล เป็นท่าเรืออัจฉริยะครบ 29 แห่งในปี 67

กรมเจ้าท่า มั่นใจปี 66 ปรับปรุงกายภาพท่าเรือใน กทม.-ปริมณฑล ครบ 29 แห่ง แล้วเสร็จตามแผน  ก่อนติดตั้งระบบเป็นท่าเรืออัจฉริยะ ( Smart Pier )  ในปี 67  ยกเครื่องบริการเรือโดยสารในเจ้าพระยา  นำสมัยด้วยระบบดิจิตอล  หนุนการท่องเที่ยว  ส่วนความคืบหน้านำเรือไฟฟ้า (EV) มาให้บริการ คาดเอกชนบรรจุเรือเข้าให้บริการได้อีก  20 ลำ 

นายสมพงษ์  จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า  (จท.) ด้านปฏิบัติการ  เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนทั้งหมด 29 แห่ง ว่า  ขณะนี้มั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน คือภายในปี 66  จะดำเนินการปรับปรุงกายภาพ ตกแต่งท่าเรือใหม่ให้เกิดความสวยงาม และเกิดความสะดวกคล่องตัวสำหรับผู้ใช้บริการครบทั้ง 29 แห่ง หลังจากนั้น จะดำเนินการติดตั้งระบบให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะหรือ Smart Pier  ในปี 67  โดยมีภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการตามกรอบที่กรมเจ้าท่ากำหนด  จะติดตั้งระบบต่างๆ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีระบบดิจิตอล มายกระดับบริการ 

ทั้งนี้ในรายละเอียดของระบบ Smart Pier  เช่น ระบบบอกเวลาเรือเข้า-ออกท่าเรือแบบเรียลไทม์ของท่าเรือผ่านหน้าจอดิจิตอล  เพื่อให้ผู้เดินทางรู้กำหนดเวลาแน่นอนที่เรือมาถึง  สามารถบริหารเวลาการเดินทางได้  ระบบจัดเก็บค่าโดยสารแบบเงินดิจิตอล ระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะเป็นบัตรเติมเงิน และตัดเงินค่าโดยสารผ่านบัตรใบนี้  ช่วยลดการสัมผัส  ก่อนที่ในอนาคตจะปรับเป็นระบบตัด-เติมเงิน ผ่านตัวอ่านข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ก็จะยิ่งได้รับความสะดวกไปอีก   

นอกจากนี้ ระบบ Smart Pier ยังมีระบบแนะนำเส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร ทางลาดคนพิการ และห้องน้ำอัจฉริยะ ที่ทั้งสะอาด และสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจุดบริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือ และ Free Wi-Fi ด้วยแนวคิดท่าเรือที่ไม่ใช่เพื่อการเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อีกด้วย ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยทำเป็นท่าเรือระบบปิดนั้น ในเรื่องนี้ ได้นำเสนอข้อมูลให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป กระทรวงคมนาคมจะนำเข้าเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี อีกครั้ง

ทั้งนี้  ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่ามีแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง  ระหว่างปี 62 – 67 เพื่อพัฒนายกระดับท่าเรือให้มีความสวยงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ตลอดจนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและบริหารจัดการบนท่าเรือ โดยความคืบหน้าปัจจุบันแบ่งเป็นท่าเรือ  ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า, ท่าเรือสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี , ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร  จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 65 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชินี ,ท่าเรือบางโพ,  ท่าเรือพายัพ, ท่าเรือท่าเตียน ,ท่าเรือพระราม 7 และ ท่าเรือเกียกกาย และมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 67 จำนวน 18 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า,  ท่าเรือพระราม 5, ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ,ท่าเรือเขียวไข่กา, ท่าเรือโอเรียนเต็ล ,ท่าเรือเทเวศร์, ท่าเรือราชวงศ์ ,ท่าเรือสี่พระยา, ท่าเรือพรานนก, ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) ,ท่าเรือวัดตึก, ท่าเรือพิบูลสงคราม 1, ท่าเรือวัดเขมา ,ท่าเรือวัดสร้อยทอง, ท่าเรือวัดเทพากร,ท่าเรือวัดเทพนารี , ท่าเรือรถไฟ  และท่าเรือวัดเศวตฉัตร โดยจะมีการติดตั้งระบบควบคุม และบริหารจัดการบนท่าเรือเรือแล้วเสร็จทั้ง 29 ท่าเรือ ภายในปี  67 

ขณะที่ในส่วนของตัวเรือ กรมเจ้าท่าได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือมาใช้พลังงานไฟฟ้า  เพื่อลดมลพิษ และ ลดปริมาณการใช้พลังงานน้ำมัน พร้อมการนำเรือไฟฟ้า EV มาให้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา  เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนา ท่าเรือเป็น Smart Pier  ขณะนี้เอกชนที่ดำเนินการ  แจ้งว่าภายในปีนี้ จะมีการนำเรือไฟฟ้า เข้ามาให้บริการในระบบอีก 20 ลำ จากปัจจุบันที่มีให้บริการอยู่ 28 ลำ  

ทั้งนี้ โครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านับเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญเป็นความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า และภาคเอกชน  ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม  ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามาใช้เพิ่มขึ้น เพื่อสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการจราจรทางบก   ช่วยลดมลพิษเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอีกเส้นทางหนึ่ง เชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางของประชาชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง ทางรถ ราง เรือ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม