

อย่างที่จั่วหัวไว้ วันนี้เรามาชวนคุย ชวนคิดกันง่ายๆ ในเรื่อง “อัตราดอกเบี้ย”
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัญหาโลกแตก เพราะในฝั่งของ “คนกู้” ก็อยากจะให้ดอกเบี้ยลดลงอีก ในขณะที่ฝั่ง “ผู้ฝากเงิน”ก็อยากให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอีกนิด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก โดยดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำสุดในตลาดขณะนี้อยู่ที่ 0-0.25%
แต่ทิศทาง “ดอกเบี้ยไทย”ในยุคโควิด-19 จะเป็นอย่างไรนั้น ล่าสุด มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงตัดสินใจ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วันไว้ที่ 0.5% ต่อปีเช่นเดิม
ซึ่งถือเป็นการ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ต่อเนื่องมา ตั้งแต่การลดลงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะ ในขณะที่ไม่ได้ปิดทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจไทยกลับมาทรุดหนักอีกครั้ง
เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ใน “ขาลง” เช่นกัน และมีหลายประเทศที่ใช้ “อัตราดอกเบี้ย” เป็นศูนย์ หรืออัตราดอกเบี้ยติดลบ แล้วในประเทศไทย “อัตราดอกเบี้ย”จะลดลงไปเป็นศูนย์ หรือต่ำกว่าศูนย์ได้หรือไม่
“คนฝากเงิน “จะไม่ได้ดอกเบี้ย หรือยิ่งกว่านั้นฝากเงินแล้วติดลบ ถูกหักค่าฝากเงิน เหมือนในประเทศอุตสาหกรรมบางประเภทเป็นไปได้หรือไม่
เราได้ตั้งคำถาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนประชาชน และได้คำตอบที่ชัดเจนจากผู้ว่าการ ธปท.ว่า “ประเทศไทยไม่เหมาะสมกับกับ “อัตราดอกเบี้ยติดลบ”
ข้อที่ 1 การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะทำให้ “ระบบธนาคารพาณิชย์” ผิดเพี้ยน เพราะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับ “การติดลบของดอกเบี้ย”
ข้อที่ 2 การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะส่งผลต่อ “เสถียรภาพของระบบการเงิน” ให้อ่อนแอลงมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ๆโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝาก จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ Search for Yield หรือ การแห่ไปลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อหวังผลตอบที่สูงขึ้นกว่าดอกเบี้ยในระบบธนาคารที่ต่ำมาก รวมทั้งแห่ไปลงทุน ในแชร์ลูกโซ่
แต่ high return ก็แต่แลกด้วย High risk หากไม่ได้ศึกษาสินทรัพย์ดังกล่าวให้ดีเพียงพอ หรือไม่ได้พิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสม แม้โอกาสได้มีมาก โอกาสที่จะขาดทุน หรือโดนหลอกลวงได้มากด้วยเช่นกัน และในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา โอกาสที่จะเสียอาจจจะมากกว่า
ข้อที่ 3 การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะมีผลต่อระบบการออมของประเทศ เพราะจะทำให้การออมของประเทศลดลง โดยเฉพาะการออมระยะยาว หรือออมเพื่อวัยเกษียน
ข้อที่ 4 การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะมีผลต่อพ่อแม่ ป้าน้าอา หรือผู้ที่ดำรงชีพจากการฝากเงินก้อนกับธนาคาพาณิชย์ และดำรงชีวิตด้วย “อัตราดอกเบี้ย”
ดังนั้น เป้าหมายในการดูแลระบบการเงิน และการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ จะไม่ทำผ่านอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างแน่นอน แต่อย่าหวังว่า “ดอกเบี้ยเงินฝาก” จะปรับขึ้นได้ เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำๆ อยู่อีกสักระยะ โดยคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีก 1 ปีข้างหน้า
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะปรับลดลงอีกได้หรือไม่ จากวันนี้ที่อยู่ระหว่าง 6.3-6.7% สัญญาณจากธปท.มองว่ามีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก และหากมีความจำเป็นธปท.อาจจะมีการออกมาตรการสนับสนุน เช่น การปรับลดอัตราเงินนำส่งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินลงอีก
แต่สิ่งที่ธปท.ได้ให้นโยบายชัดเจนกับธนาคารพาณิชย์ คือ ขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงให้กับลูกหนี้ทุกรายการ ในกรณีการปรับโครงสร้างหนี้
ดังนั้น หากใครที่รีรอไม่แน่ใจ ว่า ควรปรับโครงสร้างหนี้ดีหรือไม่ คำตอบคือ หากเริ่มไม่ไหว หรือไม่แน่ใจรายได้ในอนาคต การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย หรือเป็นความผิด เพราะวิกฤตโควิด เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีใครเตรียมพร้อมที่จะรับมือได้
อ่านทั้งหมด แล้วคิดง่ายๆ ได้ว่า แม้ธปท.จะยืนยันไม่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งไม่ยอมให้ธนาคารพาณิชย์ ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ติดลบ
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำมาก และจะมีความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้นด้วย ขณะที่แบงก์ปลอม และการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ศึกษาทุกช่องทางให้ดี หากต้องการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อรองรับวิกฤตที่ยังยาวนานไปประมาณ 2 ปี คือ มีเบาะรองรับเป็น “เงินออมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน” รวมทั้งอย่าหลงเชื่อการลงทุใดๆ ที่ผลตอบแทนสูงเกินจริง …สู้ๆ ไปด้วยกัน เราจะผ่านวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกัน