เช็คชีพจร! ส่งท้ายเศรษฐกิจไทย ปี 65

หลังจากผ่านร้อน ผ่านฝน จนเข้าสู่เดือน ธ.ค.เดือนสุดท้ายของปี 65 เดือนของการส่งท้ายปีเก่า พร้อมที่จะเข้าสู่ปีใหม่ที่ดีกว่าปีนี้ โดยส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น ปี 65 กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยปีนี้เรียกได้ว่า กลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุดแล้ว

และล่าสุด แบงก์ชาติ ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย หรือคิดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยสิ้นปี 2565 นี้ ได้กลับขึ้นมาอยู่เท่ากับสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

เท่ากับว่า วิกฤตโควิด ทิ้งเวลา และการสั่งสมความมั่งคั่งของคนไทยและเศรษฐกิจไทยไป 3 ปี  แต่ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เราจะเข้าสู่การฟื้นตัวรอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มี “เงินสะพัด” ในเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิดที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนผ่านความมั่งคั่ง จากมือของคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่ม คนที่เคยรวยอาจจะไม่รวย คนที่จนแล้วอาจจจนมากขึ้น และมีบางส่วนที่รายได้ 3 ปีที่ผ่านมาถูกกระทบน้อยมากหรือไม่กระทบ ยกตัวอย่างภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นหนึ่งในรายได้หลักของภาคบริการ ก็ยังไม่ได้กลับมาเหมือนก่อนโควิด-19

โดยในปีนี้เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย ประมาณ 10-11 ล้านคน ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว คือประมาณ 20-22 ล้านคน แต่ยังห่างไกลเมื่อเทียบกับ 40 ล้านคนในปี 62 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจะเกิดขึ้นได้คือ การเปิดประเทศของจีนที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ในช่วงครึ่งหลังของปี  ซึ่งหากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่เราคาดไว้ ก็จะช่วยกระตุ้นยอดการท่องเที่ยวไทยแบบก้าวกระโดด

เช่นเดียวกับภาคการส่งออกจากที่ขยายตัวดีในปีก่อน ขณะนี้ยอดคำสั่งซื้อในช่วงที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้ยอดการขยายตัวของการส่งออกหดตัวต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา และจะถูกกระทบต่อเนื่องไปในปี 2566

นอกจากนั้น ความเสี่ยงสำคัญที่เราต้องประคองให้ได้ในช่วงทีเหลือของปีนี้ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ประจำวันซึ่งในขณะนี้กำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ในช่วงปลายปีและปีใหม่ ต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากเราปล่อยให้การแพร่ระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นอีก

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 65 โค้งสุดท้าย แบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ (คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ) ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้เท่ากัน ว่าจะโตได้ที่ 3.2% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

ส่วนภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเฉลี่ยที่ 3.25% 

ซึ่งถือว่ายังเป็นการเติบโตที่ยังไม่เต็มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะเติบโตได้เต็มที่ที่ 3.7-3.9%

ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของไทยยังไม่ได้ต่ำลงเร็วอย่างที่คิด โดยล่าสุด แบงก์ชาติ คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ไว้ที่ 6.3% ซึ่งถือว่าเป็นการทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งได้ปรับขึ้นประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีหน้าจาก2.6% เป็น 3%  จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งแนวโน้มการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงไปยังราคาขายสินค้าที่มีมากขึ้น

จุดนี้ สะท้อนให้เห็น แนวโน้มค่าครองชีพของคนไทย ทั้งราคาพลังงาน ราคาอาหาร และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องไป และหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ราคาสินค้าที่อั้นๆไว้ในช่วงก่อนหน้าก็อาจถึงเวลาปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้ว่า โอกาสที่รายได้ของคนไทยจะเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไปจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ก็มีโอกาสที่รายจ่ายจะพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญที่จะต้องตรวจเช็ค คือ ภาระหนี้สินของคนไทย สัดส่วน “หนี้ครัวเรือน” ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแตะจุดสูงสุดที่  90.9% ต่อจีดีพี ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2564  ถือเป็นระดับที่สูงอันดับที่ 11 ของโลก ก่อนที่จะทยอยลดลงอยู่ ที่ 88.3% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และครัวเรือนรายย่อยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาคสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค ทั้งในภาพรวม และโดยเฉพาะธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ กำลังเร่งตัวขึ้นเช่นกัน

และที่ต้องจับตาคือ “ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และเอสเอ็มอี” ในระยะต่อไปภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 1.25% และคาดว่าในปีหน้า กนง.จะปรับดอกเบี้ยขึ้น 4 ครั้งจากการประชุม 6 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปแตะ 2.25%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ประเภท M ทั้งหลายตามแบงก์ชาติมากนัก เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาโหมทะลักของหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล เพิ่มมากขึ้น แต่ในปีหน้าซึ่งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เราอาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ชัดเจนขึ้น

เช็คชีพจรเศรษฐกิจไทยเดือนสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นตัวที่ชัดเจน และคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องได้ในปี 66 อย่างไม่หวือหวา ขณะที่ค่าครองชีพของไทยยังอยู่ในระดับสูง คนไทยมีภาระหนี้สูง แนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้รายได้เพิ่มขึ้นบ้าง

พูดง่ายๆ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในปีนี้ ยังไม่ได้ทำให้คนไทยรู้สึกฟื้นตัวตามได้อย่างถ้วนหน้า ขณะที่ปีหน้า แม้จะเริ่มหายใจได้ดีขึ้น แต่รายจ่ายก็หายใจรดต้นคอ!!