สำรวจทิศทางเศรษฐกิจ-ลงทุนปีกระต่าย

หลังจากได้ทดลองอยู่กับโควิด 19 มาครึ่งปีเต็ม ตั้งแต่รัฐบาลตัดสินใจลดระดับ โควิด 19 ลงมาเป็นโรคประจำถิ่น และประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทั้งการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปิดรับนักท่องเที่ยว

ขึ้นปีใหม่ 2566 กับความหวังการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มากขึ้น โดยคาดว่า เม็ดเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายทั้งของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่จะเข้ามาสูงถึง 22 ล้านคนในปีนี้ และอาจจะมากได้ถึง 30 ล้านคน เมื่อรวมนักท่องเที่ยวจีน หลังจากจีนเปิดประเทศให้คนจีนออกมาท่องเที่ยวในวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา

ในภาพรวมเศรษฐกิจ ทุกสำนักเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้น และเข้าสู่การฟื้นตัวหรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ในปีนี้ โดยคาดการณ์การขยายตัวของเศรฐกิจไทยอยู่ที่ 3.5-4% โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่3.8% ในปีนี้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัว 3.7%

เจาะมาที่ภาคประชาชน แน่นอนว่า เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยขยายตัว ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงในปีนี้ที่ผ่านมาจึงจะดำเนินอยู่ต่อไป แม้ตัวเลขเงินเฟ้อเทียบรายปีจะปรับลดลง แต่ภาพรวมยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง และที่สำคัญ จะต้องจับตาการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคผลิต และภาคการค้า มาสู่ “ราคาสินค้า” ว่าจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หรือคิดง่ายๆ คือ จับตาว่า “สินค้าตัวไหนประกาศจะขึ้นราคาอย่างเป็นทางการ” นั่นเอง โดยต้นปีเราเจอไปแล้วกับราคา “นม” และ “ไข่” ที่ประกาศปรับราคาเพิ่มขึ้น 

ปีนี้จึงเป็นปีที่ “เราคงหวังเม็ดเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำยังไม่ได้” แต่ “ก็เป็นปีที่มีความคล่องตัวทางการเงินเพิ่มขึ้น คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศแม้รายจ่ายไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นแต่เราก็มีเงินเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะ“ใช้จ่าย” ได้ โดยไม่ถึงกับขัดสน” 

และประเด็นที่น่าสนใจต่อไป คือ การเจาะลงไปในตลาดสำคัญๆ ของการเงิน การลงทุนในปีนี้ที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งต้องจับตาว่าจะเป็นไปอย่างไร 

เริ่มต้นจาก “ราคาน้ำมัน และพลังงาน” ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ยังไม่สิ้นสุด รวมทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก ในอีกหลายพื้นที่ 

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทย ในปีนี้ราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบเฉลี่ย 85–95 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่ำลงไม่มากกว่าปีที่ผ่านมา 

เนื่องจาก มองว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่กำลังการผลิตจากรัสเซียอาจจะยังหายไปจากตลาด หลังสหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยจะหายไปจากตลาด500,000–1 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ หรือโอเปกพลัส (OPEC+) ในการลดการผลิตเพื่อ พยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงต้องหวังพึ่งการผลิตจากแหล่งอื่น เช่น กาผลิตที่จะเพ่ิมขึ้นหลังการรยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา 

ขณะที่ในการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ได้ตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ต่อเนื่องด้วย “ราคาทองคำ” ผู้เชี่ยวชาฐตลาดทองคำของไทย ประมาณการว่า ราคาทองคำตลาดโลกปีนี้จะปรับขึ้นแตะระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า ส่วนจุดต่ำสุดคาดว่าจะอยู่ระดับ 1,660–1,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแนวโน้มราคาทองคำตลาดโลกในปีนี้ จะเป็นขาขึ้น  โดยได้รับผลดีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)  เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะถดถอย รวมทั้งปัจจัยจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองโลก ซึ่งผลให้คนหันมา “สินทรัพย์ปลอดภัย” เพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้น คาดว่าจะมีแรงซื้อทองแท่งจากจีนและอินเดียที่เป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกที่จะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นด้วย

ตามมาด้วย แนวโน้ม “ค่าเงินบาท” ในปี 2566 สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองตรงกันว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากปีที่ผ่านมาที่อ่อนค่าลงแตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินบาทปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในกรอบ 33.50–34.50  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กลับขึ้นไปในระดับปลายปี 2544 ที่ผ่านมา

เนื่องจากมองว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า และจะเริ่มอ่อนค่าลงตามการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของเฟดขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้น่าจะชะลอตัว หรือเข้าสู่ภาะวะถดถอย 

จากเงินบาทต้องมาที่ “ดอกเบี้ย” ในขณะที่ทุกคนยังคาดเดา “อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม” กับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ออกมาตรงกันมากที่สุดนั้น คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้นั้นธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกไม่เกิน 4 ครั้งจากการประชุม 6 ครั้ง โดยสิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2-2.5% จาก 1.25% ในขณะนี้ และคาดว่า การขึ้นดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะอยู่ในครึ่งปีแรกของปีนี้

ขณะที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ จะปรับขึ้นชัดเจนในปีนี้ โดยจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงไตรมาสที่ 4 รวมๆ ประมาณ 1% จากระดับปัจจุบัน

มาถึง “ตลาดหุ้นไทย” กันบ้าง ผลการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม เกี่ยวกับมุมมองในตลาดหุ้นและเศรษฐกิจปี 66 จัดทำโดย สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2566 จะจบลงที่1,741 จุด เพิมขึ้นจากปี 2565 โดยมีกรอบการแกว่งตัวของดัชนีในกรอบ 1,554-1,773 จุดและคาดว่ากำไรธิต่อหุ้น(EPS) เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดปี 66 เฉลี่ยที่ 105.34 บาทต่อหุ้น  EPS Growth ของปี 66 อยู่ที่7.06%

ผลสำรวจนักวิเคราะห์ได้ให้มุมมองทิศทางการลงทุนปี 66 ว่าจะได้รับผลบวกที่ชัดเจนจาก 3 ปัจจัยหลัก โดยส่วนใหญ่96.15%ให้ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโต  และ  80.77% ให้ปัจจัยบวกผลประกอบการ บริษัทจดทะเบียน ที่ขยายตัว และปัจจัยที่ 3 คือ เงินทุนต่างชาติไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย  และปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งถือเป็นปัจจัยหนุน 

ผลสำรวจนักวิเคราะห์แนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็นถือเงินสดและเงินฝากระยะสั้น 12%ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 20.12% ลงทุนในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 28.52%ลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 23.60% กองทุนอสังหาฯหรือ REIT 7.52%ทองคำหรือกองทุนทองคำ 7.92% อื่นๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน น้ำมัน0.32%โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศและกองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นจีน และหุ้นเวียดนามจากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาปกติอีกครั้ง

โดยแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร การท่องเที่ยวขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ส่วน “สินทรัพย์ดิจิทัล” นั้น แม้ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความผันผวน และความล่มสลาย แต่บริษัทลงทุนข้ามชาติส่วนหนึ่งยังเห็นโอกาสของสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่จะยังคงพัฒนาเติบโตต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่จะยังมีความผันผวนด้านราคาในระดับสูง และมีความเสี่ยงในด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น 

โดยมองว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจปรับการลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเคนและเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้ง การแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเคนที่เพิ่มมากขึ้น 

สุดท้ายสำหรับ ประเทศไทยที่เป็นเมืองเกษตรกรรม แนวโน้ม “ราคาสินค้าเกษตร”จะเป็นอย่างไรในปีนี้  ยังเป็นข่าวไม่ดีต่อเกษตรกรไทย โดยหลายสำนักประเมินว่า แม้ผลผลิตด้านการเกษตรในปีนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่ภาคการค้าโลกยังไม่สดใส ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร โดยธปท.คาดการณ์ว่าในปี 2566 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรไทยจะขยายตัวลดลงจากปี 2565 ประมาณ 1.3% ขณะที่มาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรจากภาครัฐ จะเป็นตัวช่วยบรรเทาผลกระทบในระดับหนึ่ง