

ผลกระทบจากสงครามยูเครน–รัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและการเงินระหว่างโลกตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานของโลกพุ่งสูงขึ้นมาก เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแหล่งปลูกข้าวสาลี และพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญของโลก ซึ่งการขาดแคลน หรือราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ให้เพิ่มสูงขึ้น และสำหรับประเทศไทย รัสเซียยังเป็นแหล่งผิตปุ๋ยเคมีราคาถูก ซึ่งหากไม่สามารถที่จะนำเข้าหรือนำเข้าในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น จะกระทบต่อเกษตรกรและพืชเกษตรของไทยอีกด้วย
โดยล่าสุด รัฐบาลยืนยันได้เพียงว่าจะพยายามตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะที่ปล่อยราคาน้ำมันเบนซิน และก๊าซโซฮอลล์ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาทะลุ 40 ต่อลิตรไปแล้วในขณะนี้ ทั้งนี้ราคาน้ำมัน และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกบาท เท่ากับเงินในกระเป๋าของคนไทยที่ลดลงเช่นกัน และยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหรือ Inflation ของไทยพุ่งขึ้นสูงมากในรอบ 13 ปีในเดือน ก.พ.ที่ 5.28% และมีโอกาสที่จะสูงขึ้นได้อีกในเดือนถัดๆไป หากสงครามยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า และการส่งออกน้ำมันรุนแรงขึ้นอีก
เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะซบเซา ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนในประเทศลดน้อยลง ทำให้มีความกังวลว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์อย่างไรในระยะต่อไป จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือเงินเฟ้อ แต่คนฟุบ หรือไม่ มีมุมมองที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกัน
เริ่มจากการประเมินสถานการณ์ จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS ประเมินว่าความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความขัดแย้งจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยแบ่งออกเป็น3 กรณี
กรณีที่ 1 ดีที่สุด: ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 1 เดือน (สิ้นเดือน มี.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดในเดือน มี.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
กรณีที่ 2 กรณีฐาน: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ภายใน 3 เดือน (สิ้นเดือน พ.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
กรณีที่ 3 กรณีเลวร้าย: ระยะเวลาของความขัดแย้งก่อนที่จะนำไปสู่การเจรจาตกลงกันได้ไม่เกิน 6 เดือน (สิ้นเดือนส.ค.) จากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแตะระดับสูงในเดือน มี.ค.-ส.ค. ก่อนจะทยอยปรับลดลง
โดยกรณีที่ 1 และ 2 นั้น เงินเฟ้อครึ่งปีแรกอาจสูงเกิน 4.0% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 1ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่หากสถานการณ์ลากยาวออกไป (กรณีเลวร้าย) เงินเฟ้อจะพุงสูงมากต่อเนื่องทั้งปี อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลที่จะออกมาที่อาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน จะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย โดยการส่งออกไทยไปยุโรปอาจขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งจากการส่งออไปรัสเซียและยูเครนและผลกระทบที่น่ากังวลจะเกิดจากเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวกว่าเดิมหากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานรุนแรงขึ้น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังทวีปยุโรปสูงถึงราว 10% และโดยมากเป็นสินค้าที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Cyclical) อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์และส่วนประกอบ นอกจากนั้น การขนส่งสินค้าที่ยากลำบากขึ้นอาจกระทบการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งไทยนำเข้าจากรัสเซียสูงถึง 10% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทั่วโลก
ขณะที่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซีย และการอ่อนค่าของเงินรูเบิลอย่างรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อก็อาจกระทบลามไปถึงยุโรปตะวันออกให้ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวออกไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก เพราะจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้สัดส่วนชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือราว 3 หมื่นคนในปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด โควิดที่อยู่ในระดับไม่ถึง 4%
ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ ภาวะ Stagflation หรือเงินเฟ้อ แต่คนฟุบ หรือไม่
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก และราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ จากผลของสงครามยูเครน-รัสเซียว่าธปท.ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาในขณะนี้ เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อขอไทย โดยล่าสุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสูงที่ 5.28% ซึ่งถือว่าสูงมาก
“ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกแน่นอน โดยนักวิเคราะห์มองกันว่า หากราคาน้ำมันดิบโลกเกิน 200 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะพัง แต่อย่างไรก็ตามพังหรือไม่พังนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในระดับนั้นด้วยว่ายาวนานแค่ไหน ซึ่งมองว่าราคาน้ำมันที่สูงมากๆ อาจจะอยู่ได้ไม่นานนัก ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจ นอกจากจะดูราคาว่าขึ้นไปสูงแค่ไหนแล้ว จะต้องดูที่ระยะเวลาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม รัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีสัดส่วนประมาณ การแบนไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซียจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นได้อีก”
นอกเหนือจากราคาน้ำมันขณะนี้เพิ่มขึ้นสูงมากแล้ว ราคาข้าวสาลี ข้าวโพด และพืชอาหารสัตว์ก็ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาอาหารของคนได้ เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ตัดผลของราคาน้ำมันและอาหารสดที่เพิ่มขึ้นสูงมากออกไปแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นการส่งผ่านราคาจากต้นทุนสู่ราคาขายเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ราคาสินค้าที่สูงขึ้นคือ ราคาอาหารปรุงสำเร็จที่ราคาสูงขึ้นมาก
“ในภาพเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ปีนี้ ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไว้ที่ 3.4% ภายใต้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีที่ 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และผลกระทบจากสงครามยูเครน น่าจะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีนี้สูงขึ้นไปได้อีกแน่นอน ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการบริโภค ส่งผลให้ต้องประเมินภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้ง โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนนี้ ธปท.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง”
ทั้งนี้ ในการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ขณะนี้รัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และในระยะสั้นๆ เชื่อว่ารัฐบาลยังจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาลมีจำกัด เพราะการอุดหนุนก็มี “ราคา” ที่เกิดขึ้น หากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในที่สุด รัฐบาลอาจจะต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร แต่ควรจะเป็นลักษณะการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นไป เปรียบได้กับช่วงที่ผ่านมา ธปท.เคยตรึงค่าเงินบาทในช่วงปี 40 พอไม่ไหวปล่อยลอยตัวทันที ค่าเงินบาทเปลี่ยนไปเร็วมากและแรงมาก ทุกคนรับผลกระทบไม่ไหวแต่ถ้าค่อยปล่อย จะมีเวลาให้คนค่อยๆ ปรับตัว
“ส่วนจะเกิด stagflation หรือไม่นั้น ในขณะนี้ยังไม่เข้ากรอบของการเกิด stagflation แต่ยอมรับว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง และสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากกว่า คือ คนที่มีรายได้น้อย เพราะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และอาหารมากกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่า เพราะกว่าครึ่งของรายได้ที่ผู้มีรายได้น้อยใช้ซื้ออาหารและพลังงาน ซึ่งเงินที่หายไปจะกระทบต่อ่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งจะต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทยในระยะต่อไปด้วย”