JNC สัมภาษณ์พิเศษ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ EP.1

JNC สัมภาษณ์พิเศษ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
JNC สัมภาษณ์พิเศษ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม

“ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ให้ สัมภาษณ์พิเศษ กับ JNC เป็นการ สัมภาษณ์พิเศษ มากมายหลายประเด็น ตามภารกิจที่ “ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ” ได้รับมอบหมายให้ดูแล ดังนั้น JNC จึงแยกออกเป็น 2 EP. ด้วยกัน โดย EP.1 เริ่มต้นด้วย ภารกิจ จัดระบบคมนาคมขนส่ง จ.ภูเก็ต ส่งเสริมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกประชาชน

The Journalist Club ได้มีโอกาส สัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรีป้ายแดง แต่เป็นรัฐมนตรีคมนาคมสุดเก๋า รู้ทุกงาน จัดการตามเป้าได้ทุกเรื่อง ผู้ที่นำนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

และนโยบายของพรรคเพื่อไทย สู่การปฏิบัติได้จริง เป็นรูปธรรม ลูบคลำได้แบบตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การจัดการ ลดความแออัด ของสนามบิน รับการมาเยือน ของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหล เข้าประเทศไทยไม่ขาดสาย

การสางปม เส้นทางคมนาคม ระดับตำนาน 7ชั่วโคตร อย่าง การก่อสร้างบนถนนเส้นพระราม 2 ที่ผ่านมา 54 ปี ยังไม่เคยมีใคร กำหนดได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แต่ขณะนี้ถูกขีดเส้นใต้ตัวหนาๆไว้แล้วว่า ต้องเสร็จ ภายใน เดือนมิถุนายน ปี 2568

ถ้าจะจัดเกรด การทำงาน คงต้องเป็นระดับหัวกะทิของห้อง รับเกรด A+ อย่างที่ไม่มีใครกังขา การได้เพิ่มตำแหน่งรองนายกฯมา จึงไม่ใช่วาสนา หรือโชคช่วย แต่มาจากความสามารถในการทำงานล้วนๆ

เปรียบเป็นนักมวยประเภท พูดน้อย ต่อยหนัก ไม่ใช่ประเภทสิงห์ขี้โว น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ทำงานแบบหมัดสั่ง “โป้งเดียวจอด” ไม่ต้องมากลีลา รำลิเกให้เสียเวลาประเทศชาติ

ห้องรับแขก JNC รหัส 005 – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม

“ภูเก็ต”  ประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่แออัดมานาน ทั้งเรื่องสนามบิน และการจราจร

นายสุริยะ เกริ่นถึงเรื่องปัญหาของ จ.ภูเก็ตว่า  รัฐบาลภายใต้การนำ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การท่องเที่ยว บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน  โดยเฉพาะ จังหวัดภูเก็ต

ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก มีนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ ให้กับประเทศ เฉพาะในปี 2566 กว่า 300,000 ล้านบาท และเป็นประตูสำคัญ สู่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งจะเป็นกลไก สำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

แม้ว่าจังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก แต่มีปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากมีถนนสายหลัก เชื่อมต่อหัวเกาะกับท้ายเกาะ (ท่าอากาศยานภูเก็ตกับศูนย์กลางเมือง)เส้นทางเดียว

JNC สัมภาษณ์พิเศษ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ปลัดกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม

การจราจร จ.ภูเก็ต สุดอืด 27 กิโลเมตร เดินทาง 1ชั่วโมง 20 นาที

คือ ทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ถนนสายดังกล่าว ในการเดินทางเชื่อมต่อกับกลางเมืองภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

โดยปัจจุบัน การเดินทางจากแยกสนามบิน ถึงตัวเมืองภูเก็ต ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง 20 นาที

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถขับเคลื่อน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรในปัจจุบัน ให้ประชาชนสามารถเดินทาง ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืน ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

ครอบคลุมทั้งการพัฒนาทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบขนส่งมวลชน ทั้งนี้การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการจราจรในระยะเร่งด่วนเป็นลำดับแรก

เพื่อบรรเทาปัญหาในระหว่างที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ตามแผนการดำเนินงาน ยังไม่แล้วเสร็จ นายสุริยะ จึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

JNC สัมภาษณ์พิเศษ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการคมนาคมอย่างยั่งยืน

เปิดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จ.ภูเก็ต ระยะเร่งด่วน กลาง ยาว

ระยะเร่งด่วน

ใช้การบริหารจัดการ และการบูรณาการ ความร่วมมือ ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก จึงได้มอบหมาย  ให้กรมทางหลว งร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พิจารณาแนวทาง การแก้ไขปัญหาการจราจร ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในปัจจุบัน เป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับแรก

ระยะกลาง

การแก้ไขปัญหาระยะกลาง เป็นการแก้ไขปัญหาจุดคอขวดบนถนนสายหลัก (ทางหลวงหมายเลข 402) ควบคู่ไปกับการก่อสร้าง และขยายทางหลวงหมายเลข 4027 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร ตลอดเส้นทาง

เพื่อเป็นทางเลี่ยงเมืองที่สมบูรณ์  ซึ่งจะเป็นทางเลือก ในการเดินทาง ให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี

โครงการพัฒนา จ. ภูเก็ต คมนาคม
แนวทางการบริหารจราจรระหว่างการก่อสร้าง 6 มิติ

ระยะยาว

สำหรับการวางแผนการจราจร ในระยะยาว จะเป็นการพัฒนาทางพิเศษ เชื่อมต่อระหว่างหาดป่าตองกับท่าอากาศยานภูเก็ต และเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต

จะทำให้ประชาชน ที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานภูเก็ต เข้า-ออก เมืองภูเก็ตได้ ผ่านโครงข่ายทางพิเศษ โดยไม่ต้องผ่านถนนปกติ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม จะยกระดับการให้บริการคมนาคมทุกรูปแบบ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ Cruise Terminal และระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย

ในการพัฒนาระยะกลางและระยะยาว ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานหาวิธีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการต่างๆ โดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมและการบริหารสัญญา เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้โดยเร็ว

โครงการพัฒนา จ. ภูเก็ต คมนาคม
โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต

รายละเอียดแผนงานโครงการสำคัญ การพัฒนา จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการอย่างจริงจัง โดยโครงการ สำคัญต่างๆ มีความคืบหน้าไปด้วยดี และได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนงาน  ที่กำหนดไว้ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาการจราจรระยะเร่งด่วนบนถนนสายหลัก ทางหลวงหมายเลข 402 ประกอบด้วย

  • ปรับปรุงระบบประมวลผลไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะ ในทุกทางแยก
  • กำหนดเขตห้ามจอดรถริมทางหลวง เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรบนทางหลัก และบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกำกับดูแลการจอดรถของสถานที่ราชการ ร้านค้า
  • ปิดจุดกลับรถบริเวณหน้าไทยวัสดุ
  • ทางแยกเกาะแก้ว มีแนวคิดจะทดลอง โดยให้รถวิ่งตรงผ่านทางแยกอย่างเดียว
  • บนทางสายหลัก ส่วนถนนสายรอง จะให้รถเลี้ยวซ้ายไปกลับรถทั้งหมด เฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยจะทำการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ก่อนดำเนินการต่อไป
โครงการพัฒนา จ. ภูเก็ต คมนาคม
โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการคมนาคมอย่างยั่งยืน ที่ทุกหน่วยงานได้พิจารณา แนวทางการเร่งรัดการก่อสร้างตามนโยบายของนายสุริยะ โดยมีโครงการสำคัญ ประกอบด้วย

โครงการของกรมทางหลวง 3 โครงการ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ้านเมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร และทางแยกต่างระดับ ระยะทาง 1.95 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2569

2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ้านพารา – บ้านเมืองใหม่ เป็นการก่อสร้างขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร

และก่อสร้างสะพานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน จำนวน 3 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 650 ล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2569

3.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (แยกท่าเรือ) วงเงินค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2569

และโครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต 2 โครงการ ได้แก่ ช่วงกะทู้ – ป่าตอง วงเงิน 16,494 ล้านบาท และ ช่วงเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ วงเงิน 45,651 ล้านบาท 

ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา การเดินทางจากท่าอากาศยานภูเก็ตไปหาดป่าตองจากเดิม 90 นาที เหลือเพียง 20 นาที โดยกำหนด เปิดให้บริการประชาชน ทั้งเส้นทางในปี 2573

โครงการพัฒนา จ. ภูเก็ต คมนาคม
โครงการศึกษาสะพานสารสิน ให้เรือ super yacht สามารถลอดผ่านได้

3 มาตรการพัฒนา จ.ภูเก็ต ที่เป็นรูปธรรมของกรมทางหลวง

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้นำนโยบายในการเร่งรัดการก่อสร้างมาจัดทำเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1. มาตรการด้านวิศวกรรม ได้แก่

เลือกใช้คอนกรีตแข็งตัวเร็ว (Fast Setting Concrete) ในงานก่อสร้าง สามารถรับกำลังตามที่แบบกำหนดภายในเวลา 24 ชั่วโมง

เลือกใช้โครงสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Precast Concrete) ในการก่อสร้างเพื่อลดเวลาในการทำงานและลดผลกระทบต่อการจราจร

เลือกใช้ท่อระบายน้ำชนิด HDPE ลอนเสริมเหล็ก แทนท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก (RCP) ในบริเวณทางเท้าที่ต้องรื้อ เพื่อคืนผิวการจราจรได้อย่างรวดเร็ว

2. มาตรการด้านบริหารสัญญาและกำกับผู้รับจ้าง ประกอบด้วย

เสนอขอปรับเพิ่มค่าปรับให้สูงกว่าระเบียบพัสดุฯ จากเดิม 0.25% เป็น 1% (จาก 6 ล้านบาท/วัน เป็น 24 ล้านบาท/วัน)

นำแนวทางการบริหารจราจรระหว่างการก่อสร้าง 6 มิติ ของกระทรวงคมนาคม มาใช้อย่างเคร่งครัด (มิติการออกแบบ มิติด้านการประชาสัมพันธ์ มิติด้านสัญญา มิติการคัดเลือกผู้รับจ้าง มิติการรื้อย้ายสาธารณูปโภค และมิติการบริหารจราจร)

กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบโครงการ (Single Command) รายงานผล ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไข ให้กระทรวงทราบทุกเดือน

3. มาตรการด้านการประสานงาน ซึ่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งในเรื่องของการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การบริหารการจราจร และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับหลายหน่วยงาน

โครงการพัฒนา จ. ภูเก็ต คมนาคม
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน

การศึกษาการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของ จ.ภูเก็ต ในอนาคต

นอกจากการดำเนินการในระยะเร่งด่วนแล้ว ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเพื่อเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ของจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอย่างยั่งยืน

รวมทั้งการศึกษาการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น

1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 12.5 ล้านคน/ปี เป็น 18 ล้านคน/ปี กำหนดแล้วเสร็จในปี 2574

2. โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต  (Tram) ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม

และจะเริ่มดำเนินการเมื่อโครงการก่อสร้างทางพิเศษแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านการจราจร

3. โครงการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต

โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่

โครงการศึกษาสะพานสารสิน ให้เรือ super yacht สามารถลอดผ่านได้

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน

จ.ภูเก็ต ต้นแบบการพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนทางราง ให้กับเมืองภูมิภาคอื่น

สำหรับ โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางโครงการแรก ที่จะพัฒนานอกกรุงเทพมหานคร

ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนา ให้กับเมืองภูมิภาคอื่นๆ จึงได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งพิจารณาศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ให้ครอบคลุมทุกมิติ และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีช่องจราจรแคบ และมีจุดตัดการจราจร

 รฟม. คาดว่าจะใช้เวลาในการทบทวน ประมาณ 6 เดือน และคาดว่า จะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2571 และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2574 ซึ่งจะทำให้ จังหวัดภูเก็ต มีระบบขนส่งมวลชน ที่ทันสมัย สมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกต่อไป

ทั้งนี้ ตามกำหนดเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะสอดคล้องกับกำหนดการเปิดให้บริการถนนสายหลักตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม ที่ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่คล่องตัวก่อน

ส่งผลให้การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนไม่กระทบต่อการจราจรมากนัก ซึ่งหากเริ่มก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ในระหว่างที่การก่อสร้างถนนสายหลักยังไม่แล้วเสร็จ อาจส่งผลให้การจราจรอยู่ในสภาพวิกฤติได้

“ผมขอย้ำว่า ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างยิ่ง โดยท่านได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตหลายครั้ง ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 และได้รับฟังความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม

นายกฯเศรษฐาไฟเขียว เห็นชอบมอบรองนายกฯเร่งรัดดำเนินการ

ท่านนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความพึงพอใจ ถึงผลการดำเนินการ ที่ผ่านมาของกระทรวงคมนาคม และได้เน้นย้ำให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัด การก่อสร้างโครงการทางพิเศษ ป่าตอง – กะทู้ – สนามบินภูเก็ต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรแล้ว ยังช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ของพี่น้องประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี ยังได้เห็นด้วย กับแนวทางการบูรณาการ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ทั้งในส่วนของการให้กรมบัญชีกลาง พิจารณาเพิ่มค่าปรับผู้รับจ้าง กรณีที่การก่อสร้างล่าช้า การประสานงานเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การให้จังหวัดภูเก็ต มาเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการ การรื้อย้ายสาธารณูปโภค และการแก้ไขปัญหาการจราจร เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญและจริงจังกับ การแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางในปัจจุบัน และการพัฒนาระบบการคมนาคมของพี่น้องประชาชนในจังหวัดภูเก็ต และภาคใต้ตอนล่างเป็นอย่างยิ่ง

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

จะมีระบบการคมนาคมที่สมบูรณ์ และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ต่อไป” นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย EP.1  โปรดติดตาม EP.ต่อไป

กระทรวงคมนาคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  “สุริยะ” ลงภูเก็ตเช็กความพร้อมดันภูเก็ตสู่ “Gateway” อันดามัน