PwC เผยซีอีโอเอเชียแปซิฟิกคาดปีนี้เศรษฐกิจโลกดิ่ง

  • รับแรงกดดันเงินเฟ้อ เศรษฐกิจมหภาคผันผวน
  • ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาซ้ำเติม
  • หันปรับกลยุทธ์ทำธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอด

PwC เผยผลสำรวจซีอีโอโลก พบเกือบ 70% ของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก เชื่อปีนี้ เศรษฐกิจโลกลดลง จากแรงกดดันของเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ หันปรับกลยุทธ์ลุยธุรกิจ

นายเรย์มอนด์ ชาว ประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจีน เปิดเผยว่า ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ฉบับเอเชียแปซิฟิก : ก้าวนำในโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ (26th Annual Global CEO Survey – Asia Pacific: Leading in the new reality) ที่ PwC ได้สำรวจความคิดเห็นของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 1,634 ราย พบว่า 69% เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 53% เชื่อว่าบริษัทของพวกเขาจะไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังคงดำเนินธุรกิจเหมือนปัจจุบัน

“ด้วยดิสรัปชันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ซีอีโอในภูมิภาคนี้ กำลังเผชิญกับความเป็นจริงใหม่ ซึ่งการจะจัดการกับ 2 ความท้าทายสำคัญนี้ ให้ไปสู่ความสำเร็จได้ ผู้นำธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เกี่ยวกับการสร้างคุณค่า สร้างพลังของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และทำงานร่วมกันในระดับที่กว้างกว่าและลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็น”

พร้อมกล่าวว่า “ช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่เพียง 1 ปีต่อมา ความเชื่อมั่นนี้ได้กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง”

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก ยังมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับโอกาสของประเทศตน น้อยกว่าซีอีโอทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่กว่า โดยซีอีโอเอเชียแปซิฟิก แสดงมุมมองเชิงบวกในระดับสูงสุดต่อการเติบโตภายในประเทศ อย่างจีน (64%) อินเดีย (57%) และอินโดนีเซีย (50%) ขณะที่ซีอีโอทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจในประเทศจะดีเพียง 29% โดยปัจจัยพื้นฐานของภูมิภาค ได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดเสรีทางการค้า และการเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ซีอีโอเอเชียแปซิฟิก มองว่า ความกังวลสำหรับเศรษฐกิจในปีนี้ ได้แก่ เงินเฟ้อ (41%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (30%) ที่เป็นความเสี่ยงทั้งในระยะสั้น (12 เดือนข้างหน้า) และระยะกลาง (มากกว่า 5 ปีข้างหน้า)

ส่วนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (30%) ยังถือเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ เพราะสงครามในยูเครน ส่งผลให้ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกทบทวนรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ โดยมีแผนหาตลาดใหม่ ปรับห่วงโซ่อุปทาน และกระจายข้อเสนอทางธุรกิจ ขณะที่ ซีอีโอทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนตัว

ด้านนายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของไทย ซีอีโอส่วนใหญ่มีความเห็นในทิศทางเดียวกับซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตลดลง จากปัจจัยเสี่ยง เช่น เงินเฟ้อ ผลกระทบจากสงคราม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน แม้การท่องเที่ยวฟื้น แต่ต้นทุนต่างๆ ยังสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า