“สุริยะ-มนพร” เร่งพัฒนาขนส่งจ.นครราชสีมา เชื่อมต่อไทย – ลาว – จีน

“สุริยะ-มนพร”
“สุริยะ - มนพร” ลุยติดตามความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน

“สุริยะ – มนพร” ลุยติดตามความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดนครราชสีมา เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งเชื่อมต่อไทย – ลาว – จีน พร้อมดันให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค

  • เชื่อมต่อไทย – ลาว – จีน
  • ดันให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ มิติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมในจังหวัดนครราชสีมา

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทย – ลาว – จีน (ตอนใต้) ผลักดันให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล พร้อมพบปะประชาชนและรับฟังปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายสุริยะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามประเด็น เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเดินทางและการขนส่ง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้า การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ พร้อมพบปะประชาชนและรับฟังปัญหา เพื่อนำไปประกอบการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับการแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งทางบก โดยเฉพาะเส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปจังหวัดขอนแก่นที่มีทางร่วมทางแยกจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย กับผู้ใช้เส้นทางและเกิดวิกฤติรถติดในช่วงเทศกาลบ่อยครั้งนั้น

แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1 ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2568 วงเงิน 1,150 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกสีดา บนทางหลวงหมายเลข 202 ตอนตาลาด – หนองแวกโสก กม.233+434 – กม.232.434 โครงการขยาย 4 ช่องจราจร ตอนตะหิน – ตลาดไทร กม.73+755 – 83+070 และตอนตะหิน – ตลาดไทร กม.83+975 – 84+600

รวมถึงโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 2226 วงเงิน 970 ล้านบาท ตอนวังหิน – หนองนางดำ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร และเพิ่มไหล่ทางขยายความกว้างทางหลวงหมายเลข 2285 ตอนประทาย – ชุมพวง วงเงิน 285 ล้านบาท

และโครงการเพิ่มไหล่ทางขยายความกว้างทางหลวงหมายเลข 2285 ตอนหนองโดนน้อย – ชุมพวง วงเงิน 260 ล้านบาท ซึ่งหาก ทล. ได้รับการพิจารณางบประมาณดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายการเดินทาง เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับในระบบราง ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ได้ภายในปี 2567 ส่วนช่วงมาบกะเบา – นครราชสีมา ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ

เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรนั้น ตนได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา และได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว และได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการเพื่อให้ระบบรถไฟทางคู่เสร็จสมบูรณ์ สามารถเชื่อมโยงเส้นทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านอำเภอหินกอง จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา

และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดขอนแก่นและหนองคาย สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางสู่ สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ผลักดันให้ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ส่วนความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571 และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงหลักในการก่อสร้างโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีการบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน เพื่อกำกับดูแลนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญ

กับโครงการที่เร่งด่วนเป็นลำดับแรก ช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาได้รับ

การจัดสรรงบประมาณและดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของจังหวัด พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ ยังลงพื้นที่ตรวจราชการพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมรับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน เรื่อง การขยายทางคู่ขนาน ทล.12 ไฟส่องสว่าง และเสาไฟฟ้า และการขยายถนนสามแยกภูเวียง – หนองเรือ และที อ.สีชมพู เพื่อรับปัญหาความต้องการของประชาชนเรื่อง การขยายถนนสาย ทล.228 อ.ชุมแพ – อ.สีชมพู ระยะทาง 35 กม.ทางเลี่ยงเมืองตอนเหนือ เพื่อสำรวจและออกแบบอีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวว่า วันนี้มาติดตามการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่อ.หนองเรือ อ.สีชมพูและอ.ชุมแพ เพราะการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนโดยรวม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบว่า การขยายทางคู่ขนาน ทล.12 ไฟส่องสว่าง และเสาไฟฟ้า และการขยายถนนสามแยกภูเวียง – หนองเรือ และการก่อสร้างบริเวณทางแยกไปภูเวียง ทางแยก อ.หนองเรือ งบประมาณรวม 18 ล้านบาท จะดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2568 ระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด 180 วัน ส่วนการก่อสร้างขยายยระยะทางรวมทั้งทางหลวงหมายเลข 2187 ตอนหนองเรือ-นายม งบประมาณ 45 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน

“ทุกโครงการเป็นโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อส่งเสริมคุณภาพความเป็นอยู่ให้กับผู้ใช้ทาง และการขนส่งสินค้าในการเกษตร เพื่อชุมชน และสังคมโดยรวม โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะเร่งดำเนินการให้กับพี่น้องชาว อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ได้ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ได้เข้ามารับฟังข้อมูลและเสนอแนะ โดยทางรัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการทั้งหมดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในทุกๆด้าน จึงต้องลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากชาวบ้าน เพื่อรับเรื่องร้องเรียน นำไปแก้ไขให้ดี เพื่อความสุขของประชาชน ในส่วนของถนนในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่พังจากการถูกน้ำกัดเซาะจนพังนั้น จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ เพื่อแก้ไขต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงคมนาคม เตรียม ผลักดัน รถไฟ ความเร็วสูง ไทย – จีน

: “สุริยะ” ลุยรับฟังปัญหาและความต้องการคนขอนแก่น