เจ็บจี๊ด! ในหัวใจ “เหมือนเราโดนหลอกกลับบ้าน”-“ไม่น่ากลับมาเลยจริงๆ”

เจ็บจี๊ดเข้าไปในหัวใจ “เหมือนเราโดนหลอกกลับบ้าน”-“ไม่น่ากลับมาเลยจริงๆ” เสียงสะท้อนจาก แรงงานไทยที่กลับบ้าน

  • รอเงินช่วยเหลือตามที่รัฐบาลประกาศไว้ 50,000บาท
  • สินเชื่อออมสินดอกเบี้ยต่ำ 150,000 บาทก็กู้ไม่ได้
  • เตรียมรวมตัวประท้วงเรียกร้องเงินชดเชย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่แรงงานไทยในอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทย ตามที่รัฐบาลประกาศจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมรายละ 50,000 บาท และมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รายละ 150,000 บาท วงเงิน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส. )ธนาคารละ 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล คนละ 150,000 บาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี โดยรัฐบาลช่วยดอกเบี้ย 2% ต่อปี แรงงานจ่ายดอกเบี้ย1% ต่อปี ผ่อนชำระ 20 ปี รวมทั้งการชดเชยค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าแท็กซี่ ให้กับแรงงานทุกคนที่เดินทางกลับมาทั้งที่ซื้อตั๋วกลับมาเอง และที่กลับมากับเที่ยวบินพิเศษของรัฐบาลที่จัดไปรับคนไทย ก็ยังไม่มีใครได้รับเหมือนกัน

ขณะนี้เวลาผ่านไป1เดือน 19 วัน นับจากเที่ยวบินแรกนำคนไทยกลับบ้านเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องเงินชดเชยดังกล่าว และยังไม่มีใครได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท ได้รับเพียง 15,000 บาท จากกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นไปตามสิทธิประโยชน์จากกองทุนช่วยเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

ขณะที่เงินที่ค้างในการทำงานในส่วนที่นายจ้างชาวอิสราเอลยังไม่จ่ายก็ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีใครตามเรื่องให้หรือรายงานความคืบหน้าว่าได้ติดตามเงินค่าจ้างที่ค้างไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งบางคนกลับมาไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว และยังเป็นหนี้จากการกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล ทำให้เจ้าหนี้มาตามทวงเพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับเงินใช้หนี้คืน

แรงงานบางคนอยากรีบกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้งเร็วๆ เพราะไม่มีรายได้ และถูกตามทวงหนี้ จนกดดัน ขณะที่เงินช่วยเหลือก็ยังไม่ถึงมือ เป็นการรอคอยแบบไร้ความหวัง ไม่สามารถให้คำตอบกับเจ้าหนี้ได้ว่าจะใช้หนี้คืนได้เมื่อใด ส่วนการกู้เงินกับออมสินวงเงิน 150,000 บาท มีจำนวนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารที่กำหนดไว้ หรือบางคนก็ได้รับการปล่อยกู้ให้เพียงครึ่งเดียวคือ 75,000 บาท

ทั้งนี้แรงงานบางคนเริ่มเสนอความเห็น ให้รวมตัวกันไปประท้วง เรียกร้องกับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามที่รับปากไว้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แรงงานตัดสินใจกลับประเทศไทย ตามที่รัฐบาลต้องการ และให้ญาติโน้มน้าว แต่พอกลับมาแล้ว กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เรื่องการช่วยเหลือหรือชดเชย จนถึงขั้นบอกว่าหมดความหวังกันไปแล้ว แถมยังต้องเสียค่าเดินทางไปติดต่อกับหน่วยงานแรงงานจังหวัด หลายครั้ง ทั้งการติดตามความคืบหน้า ทั้งการลงทะเบียนแจ้งความช่วยเหลือ การยื่นเอกสารต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 28พ.ย.ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 352,159,430 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอลตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ซึ่งจำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566

เช่น ค่าเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ ค่าเช่าที่พักและจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ค่ายานพาหนะสำหรับรับ-ส่งคนไทยมายังศูนย์พักพิงชั่วคราว ค่าเครื่องอุปโภคและบริโภคซึ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ค่าชดเชยการจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าพาหนะสำหรับผู้ที่ชำระค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ค่าเดินทางราชการต่างประเทศชั่วคราว เป็นต้น

โดยสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณดังกล่าว โดยให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่นลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ และขอให้ กต. จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศ