เร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนสร้างไฮสปีด”เชื่อม3สนามบิน-ไทยจีน”

  • “สุรพงษ์”ปิ๊งทางออกพร้อมจัดงบประมาณมาก่อสร้างแทน 
  • หวังต่อยอดระบบขนส่งทางรางเชื่อมต่อลาว จีน 
  • ขณะปัญหามรดกโลกที่สถานีอยุธยาใกล้ยุติ

“สุรพงษ์”เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนรถไฟความเร็วสูง”เชื่อม3สนามบิน-ไทยจีน” ปิ๊งทางออกหากเอกชนไม่เดินหน้าต่อ พร้อมจัดงบประมาณมาก่อสร้างแทน หวังให้ระบบขนส่งทางรางเชื่อมต่อจากต่อขึ้นจากใต้ขึ้นเหนือ อีสาน เชื่อมลาว จีน ขณะปัญหามรดกโลกที่สถานีอยุธยาใกล้ยุติ เตรียมส่งรายงาน HIA ให้ยูเนสโกในเม.ย.นี้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และไฮสปีดเทรนไทย-จีน ว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาทางออกกับบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ผิดชอบในการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  มั่นใจว่าปัญหาในเรื่องของโครงสร้างร่วมกันระหว่างเอกชน กับ รัฐจะจบภายในเดือนพฤษภาคม  67นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการในโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสแรกช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายในปี 71นี้

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม มีความพยายามที่จะเดินหน้าในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และ โครงการรถไฟไทย-จีน ให้เปิดบริการให้สำเร็จ เนื่องจากปัจจุบันงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เฟส 1มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง 

โดยเหลือแค่ 2 สัญญาเท่านั้นที่ต้องเคลียปัญหา คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ดอนเมือง ซึ่งติดปัญหาโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 10,325.96 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญากับเอกชน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อมรดกโลกบริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีอยุธยา

ส่วนเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการร่วมทับซ้อนกันอยู่ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง  นั้น ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ก็รอดูท่าทีของบริษัท เอเชียเอราวัน ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบไฮสปีดสามสนามบิน ว่าจะมีการดำเนินการในโครงการต่อหรือไม่ 

เนื่องจาก เอเซีย เอราวัณ รอว่าทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะต่อสิทธิประโยชน์พิเศษทางการลงทุนให้หรือไม่ หากไม่ต่อ และเอกชนจะไม่ดำเนินโครงการลงทุนส่วนนี้ ทางภาครัฐก็มองว่าจะใช้งบประมาณของภาครัฐมาลงทุนเอง

“ในกรณีที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จริง กระทรวงคมนาคมโดย รฟท.จะดำเนินการช่วงโครงสร้างร่วมเอง โดยอาจใช้วิธีตั้งงบประมาณขาดดุลมาลงทุน ซึ่งยืนยันว่าฝ่ายรัฐพร้อมจัดหางบประมาณมาลงทุนเพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีนเดินหน้าได้จนแล้วเสร็จ โดยเรื่องโครงสร้างร่วมจะมีความชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคม 67 แน่นอน”

นายสุรพงษ์  กลาวต่ออีกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น จะอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรม การนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ส่วนรฟท.นั้นได้รับมอบหมายให้อยู่ในฐานะคู่สัญญากับเอกชนเท่านั้น 

ดังนั้นการจะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอย่างไรต่อไป ต้องเป็นหน้าที่ของ สกพอ.พิจารณาตัดสินใจ มิใช่กระทรวงคมนาคม ซึ่งเชื่อว่าแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้  

ส่วนปัญหาเรื่องผลกระทบมรดกโลกในสัญญาที่ 4-5 นั้น มั่นใจว่าจะได้ข้อยุติเร็วๆนี้เช่นกัน เพราะขณะนี้รฟท.ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment :HIA) เสร็จเรียบร้อยแล้วและจะนำส่งให้ทางองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพิ่มเติม เพราะฝ่ายไทยได้เชิญผู้แทนจากยูเนสโกมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในช่วงการจัดทำรายงาน HIA แล้ว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งโครงการรถไฟไทยจีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นั้น ทั้ง 2โครง

การรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าในแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการตามเป้าหมายที่วางไว้ หากโครงการใดติดปัญหาก็จะพยายามแก้ไขปัฐหาให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลได้มีการก่อสร้างทางคู่ทั่วไทย และในปีนี้ ก็จะเร่งเดินหน้ารถไฟทางคู่เฟส 2เพื่อให้การเชื่อมต่อระบบรางแบบไร้รอยต่อ และเชื่อมกับเส้นทางรถไฟที่มีอยู่ เพื่อให้การขนส่งคน สินค้า จะภาคใต้ไปยังภาคเหนือ เชื่อมต่อไปยังภาคอีสานได้ โดยมีเป้าหมายที่จะให้เชื่อมต่อ ลาว และประเทศจีนสำเร็จ ซึ่งจะทำให้การขนส่งคน สินค้า ไร้รอยต่อ