Trip.com แนะโลกใช้ 3 วิธี รับมือทัวร์ล้นเมืองสู่เที่ยวยั่งยืน

ซีอีโอ Trip.com Group เปิด 3 กลยุทธ์ในเวที WEF ชี้ทางออกตลาดโลกรับมือ “ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง” มุ่งสู่การลงทุนใหม่ “ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ยกโมเดล ไทย มาเลเซีย

  • ปี 67 หันเจาะกลุ่มทัวร์คุณภาพใช้เงินสูง
  • ผนวกใช้การตลาดอีคอมเมอร์ โซเชียล มีเดีย บูมพื้นที่เที่ยวแปลกใหม่

เจน ซุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีอีโอ Trip.com Group เปิดเผยว่า ได้ขึ้นเวทีเสวนา “Sorry, We’re Full: Tackling Overtourism” ในงาน World Economic Forum: WEF ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับบุคคลสำคัญและผู้ทรงอิทธิพล ตั้งแต่นักการเมืองชั้นนำ ผู้นำทางธุรกิจจากทั่วโลก และประเทศไทย เพื่อระดมความคิดรับมือความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่พร้อมทั้งตั้งเป้าปี 2567 เป็นต้นไป ตั้งความหวังจะหาจุดยืนร่วมกันและแนวทางแก้ไขที่เป็นเอกภาพสอดคล้องตามแนวคิด “การฟื้นคืนความไว้วางใจ” ของนักท่องเที่ยวนานาชาติกลับมาให้ได้มากที่สุด

ทาง Trip.com Group ใช้วิธีทำแบบสอบถามจากผู้ตอบมากกว่า 75% เห็นพ้องกันที่จะต้องทำเรื่องสำคัญคือ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” แต่ก็ยังมีอุปสรรคมากมายเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักทำให้จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องเผชิญความท้าทายเจอปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง กระทบกับการอนุรักษ์โบราณสถาน การต่อสู้กับมลพิษ และการดูแลระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ด้วย

ซีอีโอเจน จึงได้แบ่งปันมุมมองความท้าทายกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยวิธีแลกเปลี่ยนมุมมองกับบุคคลสำคัญนานาชาติอย่าง อาเมอร์ อัลมาดานีประธานเจ้าหน้าที่บริหารของราชกรรมาธิการอัลอูลา ซิเธมบีเล เอ็นตอมเบลา รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบรนด์ เซาท์ แอฟริกา สตีเฟน คอตตอน เลขาธิการสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) อันโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแคปปิตอล เอ เบอร์ฮาด (Capital A Berhad หรือ แอร์เอเชีย) ดำเนินรายการโดยริชาร์ด เควสท์ ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวของ ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล

ขณะนี้ Trip.com Group เตรียมกลยุทธ์และแนวทางหลากหลายไว้รับมือกับความท้าทายดังกล่าว โดยริเริ่มโครงการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และต่อสู้กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เน้นแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองอย่างรอบคอบและสมเหตุสมผล เพราะจุดหมายปลายทางหลายแห่งอาจแออัดหากไม่มีระบบการจัดการอย่างเหมาะสม และส่งผลถึงภาพรวมการเดินทางสัมผัสประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวแย่ลง จึงต้องมองหาวิธีทำให้อุปสงค์และอุปทานเติบโตขึ้นควบคู่กันได้อย่างยั่งยืน ตามตัวอย่างที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม 3 กลยุทธ์ คือ

กลยุทธ์ที่ 1 “การลงทุนด้านท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ” เข้ามาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเลือกเป็นจุดหมายปลายทางลดปริมาณคนให้น้อยลงแต่รายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่าง ประเทศไทยกับมาเลเซีย มีแผนและนโยบายชัดเจนมุ่งสนับสนุนแนวคิดดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศกลุ่มที่ “มีกำลังจ่ายสูง” กระจายตัวเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองรองในภูมิภาคอื่น ๆ มาก นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของภูมิภาคที่ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อย ซึ่งสามารถช่วยลดทั้งปัญหานักท่องเที่ยวล้นตลาดและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ด้วย หรือ เมืองดูไบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประสบความสำเร็จในการขยายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่ารายได้กว่าปีละ 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งเรียกว่าการท่องเที่ยวแบบทฤษฏีหางยาว(Long-tail tourism) ทำการตลาดแบบเน้นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เริ่มเห็นผลการเติบโตมากขึ้นด้วยการสร้างคอนเทนท์แล้วเปิดขายผ่านช่องทางเทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่ง Trip.com Group ได้ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเดียวกันนี้ผนวกเข้ากับแคมเปญอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ชื่อว่า Trip Moments เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น Trip.com ทำให้เมืองแทกู สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักในเกาหลีใต้เป็นไฮไลท์หลักในแคมเปญดิจิทัลสร้างความสำเร็จด้วยยอดเข้าชมกว่า 29 ล้านครั้ง ทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

กลยุทธ์ที่ 3 ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาการท่องเที่ยวเงียบเหงาหรือไม่ค่อยมีคนออกเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ใดจึงสามารถบรรเทาปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองช่วงฤดูท่องเที่ยวได้ ซึ่งทาง Trip.com Group ทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงได้โดยนำเสนอตัวเลือกการจองที่ยืดหยุ่น มั่นใจลูกค้าจะมีอิสระเปลี่ยนแผนการเดินทางของตนได้เมื่อมีความจำเป็นนั่นเอง

ซีอีโอเจน ย้ำว่า ปี 2567 ทาง Trip.com Group ยินดีจะร่วมมือกับพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันค้นหาวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาซับซ้อนเรื่องนักท่องเที่ยวล้นเมืองได้ง่ายๆ เพียงชั่วข้ามคืน ดังทุกความพยายาม ทุกความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจจากทุกภาคส่วนจะช่วยพัฒนาอนาคตการเดินทางให้สอดคล้องไปกับหลักการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้อย่างราบรื่น อันเป็นความมุ่งมั่นในการกำหนดนิยามใหม่ให้กับแก่นแท้การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบกับโลกของเรา-เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน