สูงสุด..สู่สามัญ การเมืองไทย ยุคใหม่ไล่ “ไดโนเสาร์” ตกท่อ กทม.



ในที่สุด กลไกทางการเมือง ก็สามารถปลดล็อคตัวมันเอง และ จัดการกับปัญหาที่อาจจะกลายเป็นทางตัน ในหมู่พรรคการเมือง และ นักการเมืองด้วยกันเองได้ โดยไม่ต้องให้องค์กรใด หมู่คณะใด หรือ ทหารจากกองพันใด ยื่นมือเข้ามาเป็นผู้จัดการให้…(โดยมิได้ร้องขอ!)

ความสำเร็จนี้ มีผลทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ขยับซ้าย-ขวาเข้า-ออกได้ จนลงตัวด้วยการได้ ครม. ที่ออกจะเกินความคาดหมาย ซ้ำยังฝากรอยแผลไว้ให้แก่ใครหลายคนด้วย 

เบื้องต้น ครม.ชุดใหม่นี้ จะประกอบไปด้วย คนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) 17 คน, ภูมิใจไทย (ภท.) 8 คน, รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 4 คน ,กลุ่มของผู้กองธรรมนัส 3 คน, ประชาธิปัตย์ 2 คน, ชาติไทยพัฒนา 1 คน และ ประชาชาติอีก 1 คน รวมเป็น 36 คน 

ทีนี้มาดูกันว่า ครม. ทั้งหมดมีใครกันบ้าง เริ่มจาก อันดับที่ 1 แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี, อันดับ 2 ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกฯ และรมว.กลาโหม อันดับ 3 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกฯ และรมว.คมนาคม, สุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็น รมช.คมนาคม และมนพร เจริญศรี เป็น รมช.คมนาคม

อันดับ 4 พิชัย ชุณหวชิร เป็น รมว.คลัง, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็น รมช.คลัง

อันดับ 5 สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข, สรวงศ์ เทียนทอง เป็น รมว. ท่องเที่ยว และกีฬา, ประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็น รมว.ดิจิทัล และ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็น รมว.ต่างประเทศ

อันดับ 6 สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็น รมว.วัฒนธรรม ,พิชัย นริพทะพันธ์ุ เป็น รมว.พาณิชย์ และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็น รมช.มหาดไทย อันดับ 7 จิราพร สินธุไพร และ ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็น รมต.สำนักนายกฯ

รัฐมนตรีจากพรรคร่วม ใครเข้า – ใครออก ดูกันเอง

อันดับที่ 8 จากพรรคภูมิใจไทย มี รมว.4 คน และ รมช. 4 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ, พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.แรงงาน ,น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี เป็นรมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 

ทรงศักดิ์ ทองศรี เป็น รมช.มหาดไทย ,ชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็น รมช.มหาดไทย, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรมช.ศึกษาธิการ และ นภินทร ศรีสรรพางค์ เป็น รมช.พาณิชย์

อันดับที่ 9 จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน ได้แก่ พีระพันธ์ุ สาลีรัชวิภาค เป็น รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ,เอกนัฏพร้อมพันธ์ุ เป็น รมว.อุตสาหกรรม, พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็น รมช.กลาโหม และ สุชาติ ชมกลิ่น เป็นรมช.พาณิชย์

อันดับที่ 10 กลุ่มผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพปชร.ได้แก่ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมว.เกษตรฯ, อิทธิ ศิริลัทธยากร เป็น รมช.เกษตรฯ และ อัครา พรหมเผ่า เป็น รมช.เกษตรฯ

อันดับที่ 11 จากพรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคประชาชาติ ได้แก่ วราวุธ ศิลปอาชา เป็น รมว.พัฒนาสังคมฯ ส่วนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น รมว.ยุติธรรม ตามเดิม

อันดับที่ 12 จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ เดชอิศม์ ขาวทอง เป็น รมช.สาธารณสุข

โมเดลรัฐบาลใหม่ ปิดสวิตซ์ “วงษ์สุวรรณ” กับ 4 ป.

ส่วนเรื่องที่ใครต่อใคร กับบรรดาลูกอีช่างวิจารณ์ กล่าวกันว่า โมเดลจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ เป็นโมเดลที่วิปริต และเป็นการล้างแค้น 17 ปีไม่สายของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้พ่อ… 

พร้อมๆ กับเป็นการปิดสวิตซ์ 4 ป. จาก 3 ป.ของเหล่าลุงๆ ผู้นำการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2557 โดย ลุงคนสุดท้ายคือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. จากบ้านป่ารอยต่อ 

ส่วนอีก 1 ป. ก็คือ ประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่ตั้งขึ้นในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏร์ ปี 2475 

หลายคนวิจารณ์ว่า การกระทำของ ทักษิณ ที่ดึงเอาพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล คือ การทำลายพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ ให้ถึงแก่กาลอวสาน และ สูญพันธ์ุไปในที่สุด…เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวทีเดียว! 

มาถึงตรงนี้ ย่าอยากจะเล่าขานให้เป็นที่จดจำกันสักนิดว่า ช่วงระหว่างมีประเด็น 40 สว. ไปยื่นเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนเศรษฐา ทวีสินออกจากการเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ เพราะแต่งตั้งพิชิต ชื่นบานทนายถุงขนมเป็น รมต.น่ะ

ชำระแค้นให้ “เศรษฐา” กับความยุ่งเหยิงทางการเมือง

มีความคิดแบบมองตากันรู้ใจมาก่อนแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ สมควรได้รับการตอบโต้ ก็อย่างที่ ทักษิณ ออกมาพูดผ่านสื่อนั่นแหละว่า เรื่องยุ่งๆ ทางการเมืองทั้งหลายน่ะ มาจาก “คนในป่า” ซึ่งหมายถึง ลุงป้อม ทั้งสิ้น

เช่น โหวตนายกฯ ก็มีประเด็นอิดๆออดๆไม่ไปโหวต ขณะที่ สว.ในกลุ่มที่ ลุง ดูแล ก็ไม่ยอมโหวตให้ 

แถมยังมีกระแสข่าวจะส่งตัว ลุงป้อม ไปวัดพลังกัน ในฐานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ตลอด ล่าสุดโหวตนายกฯ แพทองธาร ลุงป้อม ก็ติดงานอื่นที่สำคัญกว่า เป็นต้น

ที่สำคัญกว่านั้น ทักษิณ ระบุว่า คนจากป่านี่แหละ คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการยัดข้อหา ม.112 ให้เขา หลังจากที่เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในคดีเดิมๆ จนหมดแล้ว กลับต้องมาเดือดร้อนจากคดีใหม่ที่โยนไปใส่เขา

เมื่ออยู่ร่วมกันยังไม่ทันก้นหม้อจะดำ ก็มีเรื่องของการ abuse of power ใช้อำนาจในทางที่กดขี่พรรคเพื่อไทย จากองค์กรอิสระ ในกำกับดูแลของลุง ตลอดเวลา…บางทีสูตรการดึงไพร่พลออกมา ตามไอเดียของผู้กอง อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ได้ 

แต่เมื่อทุกสิ่งอย่างล่วงเลยมาตกอยู่ในมือ นายกฯ แพทองธาร ก็มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลใหม่ จะไม่มี “วงษ์สุวรรณ” เป็นการชำระความเรื่อง 40 สว.ในแบบ “พอ กันที” 

ช่วงเวลานั้น ลุงป้อม ถึงกับโชว์ความเก๋าด้วยการส่งจดหมายไปยืนยัน กับเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (19 ส.ค.) เพื่อคอนเฟิร์มว่า พรรค พปชร. ยังคงสนับสนุน และอยู่ร่วมกับรัฐบาลต่อไป 

ในเวลาเดียวกัน ก็ชิงส่งชื่อบุคคลที่พรรคเห็นควรเป็น รมต.ไป 4 คน โดยตัดชื่อ ผู้กองธรรมนัส เลขาธิการพรรคทิ้งแล้วเอา สันติ พร้อมพัฒน์ ขยับขึ้นไปเป็น รมว. เกษตรฯ แทน 

อิสรภาพ “ธรรมนัส” แลกกับการเชือดนิ่ม “ลุงป้อม”

นอกจากนี้ ยังส่งชื่อ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็น รมช.สาธารณสุข, อรรถกร ศิริลัทธยากร เป็น รมช.เกษตรฯ และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ยังคงดำรงตำ แหน่ง รองนายกฯ และรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต่อไป 

นั่นทำให้ ผู้กองธรรมนัส ออกมาประกาศอิสระภาพทันที ว่ารับใช้ ลุงป้อม มา 6 ปี นานพอจะเลือกทางเดินของตัวเองเสียที ถัดมาในวันที่ 23 ส.ค. ลุงป้อม จึงถอยกรูด พร้อมส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคเห็นควรเป็น รมต. กลับไปเป็นรอบที่ 2

รอบนี้ มีผู้กองธรรมนัส เป็น รมว.เกษตรฯ, สันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมช.สาธารณสุข, อรรถกร ศิริลัทธยากร เป็นรมช.เกษตรฯ โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท นั่งในตำแหน่งเดิม

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนเรื่องราวจะบานปลายกลายเป็นการแตกหักกันรุนแรง จนทั้งสองกลุ่ม ต้องวัดพลังกัน ด้วยการเรียกประชุม กลุ่มของผู้กองธรรมนัสมี 20 เสียง ขณะที่ ลุงป้อม ก็มี 20 เสียง 

ถ้าผู้กองรวมกับกลุ่มของ สันติ ที่ส่งเมียไปร่วมประชุมด้วยอีก 14 คน เขาจะมีเสียงสนับสนุนในพรรค พปชร. มากถึง34 เสียง เหลือให้ ลุงป้อม เอาไว้กอดรายชื่อเพียง 6 คน

แต่ยังไม่ทันที่จะรอให้ สันติ ตัดสินใจ ผู้กองธรรมนัส ก็หันไปเสนอโมเดลใหม่ แก่พรรคเพื่อไทย ด้วยการ “สลัดทิ้ง ลุงป้อม” แล้วหันไปส่งเทียบเชิญพรรค ปชป. ซึ่งในเวลานั้นมีผู้เห็นด้วยอยู่ 21 คนจาก 25 คน ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลทันที

โมเดลนี้ ส่งผลให้กลุ่มอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ซ้ายตกขอบ และ ขวาตกกระป๋อง ถึงกับลงไปแดดิ้นเหมือนไส้เดือนโดยขี้เถ้ากันยกใหญ่ ก่อนจะก่นด่า พรรค ปชป. สาดเสียเทเสีย 

คะแนนเสียงรัฐบาลเพิ่ม 320 เสียง การเมืองยุคใหม่ ไม่ฟาดก่อน ก็กินเขาไม่ทัน

ส่วน ธรรมนัส ซึ่งมีเสียงในมือ 20 คน ถ้าได้ ปชป. มาร่วมอีก 21 คน ก็ยังทำให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่ดี ยิ่งมีพรรคไทยสร้างไทย ยกมือโหวตให้ นายกฯ แพทองธาร อีก 6 คน เสียงของรัฐบาล ก็ยิ่งจะมีมากกว่า 320 เสียง

ธรรมนัส ยังได้ส่งรายชื่อที่เห็นควรเป็น รมต. ในส่วนของตน ให้พรรคเพื่อไทยด้วย โดยมี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากพรรคกล้าทำ เป็น รมว.เกษตรฯ แทนที่เขา, มี อิทธิ ศิริลัทธยากร และอัครา พรหมเผ่า เป็น รมช.เกษตรฯ หลังจากที่ประชุม สส. พรรคเพื่อไทย มีมติไม่เอาพรรคพปชร. ร่วมรัฐบาลอีกต่อไป…จัดเป็นการปิดฉาก “วงษ์สุวรรณ” อย่างเป็นเอกฉันท์

ถึงกระนั้นก็ตาม ลุงป้อม ซึ่งพลาดท่าเสียทีจนตกเป็นรอง ยังคงให้ สส.ในพรรคออกมาทวงสัญญาการร่วมรัฐบาลเดิมอยู่ และยังไม่เรียกประชุมเพื่อถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ในเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่มีมติขับ ผู้กองธรรมนัส กับพวกอีก 20 คน ออกจากพรรค

เป็นไปตามที่ผู้กองประกาศว่า ถ้าไม่มีการขับพวกเขาออกจากพรรค “ก็อยู่กันไปแบบนี้”

ฉันใด ก็ฉันนั้น พรรค ปชป. ซึ่งคงเหลือเพียงผู้อาวุโสสูงสุดอย่างผู้เฒ่า ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ลักษณะวิศิษฐ์ กับบุตรชายของ นิพนธ์ บุญญามณี คือ สรรพเพชร เพียง 4 คน ที่ยืนยันจะไม่มีวันเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย …ก็ยังคงอยู่ในพรรค ปชป.ต่อไป ในฐานะเป็นกลุ่มคนที่ร่วมกันสร้าง ปชป.มา

เนื้อหาวันนี้ อาจจะยาวไปหน่อย แต่ก็หวังว่าจะมีสาระให้เก็บไปคิด วิเคราะห์ และแยกแยะกันได้ว่า การเมืองยุคใหม่ ถ้าไม่เข้มข้น ดุเดือด หรือ ฟาดเขาก่อน ก็กินเขาไม่ทัน!!

คุณย่าขาซิ่ง