บพท.MOU มหา’ลัยกว่างซี ชูโมเดลแก้จนข้ามชาติไทย-จีน

บพท.จับมือมหาวิทยาลัยกว่างสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนามแลกเปลี่ยนโมเดลแก้จน ใช้พื้นที่นำร่องในไทย 7 จังหวัด ปะกบคู่มณฑลกว่างสี เปิดประตูสู่เพื่อนบ้านเล็งขยายผลทุกภาค

  • บพท.เริ่มครั้งแรกลงนามมหาวิทยาลัยกว่างซีแลกเปลี่ยนโมเดลแก้จนข้ามชาติ
  • ใช้เครื่องมือจัดการทุนพื้นที่เต็มรูปแบบ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนกับมหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมเปิดประตูเชื่อมโยงองค์ความรู้แก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำของประชาคมนักวิจัยไทย ผนึกร่วมมือยกระดับคุณภาพชีวิตแก้ปัญหาความยากจนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือของหน่วยราชการ 2 ประเทศ ขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปูพรมแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยมีเหตุผลสำคัญที่เลือกลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี เพราะไทยกับมณฑลกว่างซีมีหลายอย่างใกล้เคียงกันมากทั้งด้านวัฒนธรรม หลักคิดความเชื่อค่านิยม สภาพภูมิประเทศ ขนาดพื้นที่ ขนาดประชากร ซึ่ง บพท. กับมหาวิทยาลัยกว่างซี จะได้นำความรู้การแก้ปัญหาความยากจนไปใช้ในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ลำปาง มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา ก่อนจะขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศต่อไป

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีสาระสำคัญเรื่องเจตนารมณ์เสริมสร้างความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ด้วยวิธีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด องค์ความรู้ ประสบการณ์ เงื่อนไขความสำเร็จ โครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างสถาบันการวิจัยทำให้บรรลุเป้าหมายการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบทวิภาคีครบทั้ง 3 ด้าน คือ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

โดยมีขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่าง บพท. กับ มหาวิทยาลัยกว่างซี 4 มิติ ประกอบด้วย

มิติแรก ความร่วมมือกันด้านองค์ความรู้ และบัญชีรายชื่อนวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน มิติที่ 2 ผลผลิต ห่วงโซ่คุณค่า และกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจน มิติที่ 3 สร้างต้นแบบพื้นที่หรือหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน อย่างน้อย 1 แห่ง มิติที่ 4 ความร่วมมือด้านอื่นๆที่เห็นชอบร่วมกัน

ดร.กิตติ ย้ำว่านับเป็นปฐมบทการเปิดประตูเชื่อมโยงองค์ความรู้แก้ปัญหาความยากจนของประชาคมนักวิจัยไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ บพท.คาดหวังตั้งใจจะต่อยอดขยายผลชุดความรู้จากงานวิจัยแก้จน ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศเพื่อนบ้านให้ได้รับประโยชน์เชิงบวกร่วมกัน -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน