คลังดันคนไทยมีบ้าน แบงก์รัฐจ่อทยอยออกมาตรการด้านสินเชื่อ-ดอกเบี้ย

“กฤษฎา” รมช.คลัง ชี้ภาคอสังหาฯ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เผยมีแผนขยายราคาซื้อขายบ้านเกิน 3 ล้านบาท ให้ได้สิทธิเข้าร่วมมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง

  • เผยแบงก์รัฐ จะทยอยออกมาตรการทั้งด้านสินเชื่อ ข้อเสนอทางดอกเบี้ย ออกมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการมีบ้าน
  • ชี้ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงมีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท แต่เอ็นพีแอลภาคอสังหาฯ ไม่สูงมากนัก
  • จ่อทบทวนภาษีที่ดินฯ หลังใช้มานาน 6 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยันไม่แก้ในเกณฑ์อัตราภาษี

วันนี้ (28 มี.ค.67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยภายในงานสัมมานาประจำปี 67 สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย “เจาะลึกปัญหาสินเชื่อกับหนี้ครัวเรือนและทางออก” ว่า ปัจจุบันเรื่องที่อยู่อาศัยมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องของสังคม ที่พักอาศัยไม่ว่าจะซื้อหรือจะเช่า ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และจากมุมมองทางเศรษฐกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 65 ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทย และจากจำนวนนี้ประมาณ 2 ใน 3 มาจากตลาดที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานไปยังภาคการผลิตต้นน้ำและภาคการผลิตปลายน้ำอื่นๆ อีกมากมายด้วย มีการจ้างงานที่สูง รวมความเชื่อมโยงระหว่างภาคอสังหาริมทรัพย์กับภาคการเงิน ทั้งในส่วนของสินเชื่อและการประกันวินาศภัย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้ประเมินตัวทวีคูณ หรือ Multiplier ของภาคอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ 1.13 นั่นคือหากมีการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวน 100 บาท จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 113 บาท

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า จากนี้ธนาคารของรัฐ จะทยอยออกมาตรการต่างๆ ทั้งด้านสินเชื่อ ข้อเสนอทางดอกเบี้ย ออกมาเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการมีบ้านเป็นของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยก็อยู่ในระดับที่สูงมีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท แต่เอ็นพีแอลในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ ภาครัฐมีมาตรการหลากหลายเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยให้ประชาชน แต่การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนระยะยาว บางคนอาจใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตในการผ่อนชำระสินเชื่อ เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการสร้างภาระผูกพันที่ยาวมาก ดังนั้น ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชน แนวโน้มดอกเบี้ย หรือภาระหนี้ครัวเรือน ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ที่ปัจจุบัน เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยจะทำการขยายให้ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท มีสิทธิเข้าร่วมด้วยมาตรการด้วย โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยซึ่งในปี 66 ขยายตัวที่ 1.9% ชะลอตัวลงจาก 2.5% ในปี 65 และคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.8% ด้านภาระหนี้สินครัวเรือนในปัจจุบัน มีมูลหนี้ทั้งสิ้น 16.2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของ GDP โดยจากจำนวนนี้ ประมาณ 1 ใน 3 เป็นหนี้สินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อไตรมาส 3 ปี 66 เติบโตขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปี

ทั้งนี้ หากมองจากฝั่งครัวเรือน ภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้อยู่ที่ 20-25% ของรายได้ครัวเรือน โดยสัดส่วนภาระหนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์สูงสุดในกลุ่มรายได้ครัวเรือน 50,000-200,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของภาระหนี้ทั้งหมด

“แม้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สูงมากนัก แต่ NPL ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 66 เพิ่มขึ้นจากปี 65 มาถึง 7% แต่ในส่วนนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นมูลหนี้ทีีมีหลักประกันชัดเจน” นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือ Special Mention เพิ่มขึ้นมาถึง 31% และสินเชื่อรหัส 21 ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 28% ซึ่งต้องยอมรับว่า ตัวแปรเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในตลาดที่อยู่อาศัย

ดังนั้น นอกจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น เรื่องภาษีที่ดินฯ หรือการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย มาตรการอื่น ๆ ที่กระตุ้นการลงทุน กระตุ้นกิจกรรมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนหรือผู้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าเดินทางเข้าประเทศไทย จะมีผลโดยตรงในการเพิ่มอุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยจากชาวต่างชาติ รวมทั้งกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ส่งผลให้เป็นการกระตุ้นความต้องการอสังหาริมทรัพย์จากตลาดในประเทศด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจปี 66 ประเทศไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของจุดหมายการเดินทางที่ผู้ที่ทำงานในสาขาดิจิทัลนิยมเข้ามาทำงาน โดยไทยเรามีศักยภาพ และควรใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้

“จากนี้ไปสถาบันการเงิน สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะต้องช่วยกันคิดถึงนวัตกรรมทางการเงินที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ด้วยภาระดอกเบี้ยหรือภาระการผ่อนชำระที่พอเหมาะพอควร ส่วนนี้ก็อาจจะช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความคล่องตัวขึ้นได้” นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ นายกฤษฎา ยังกล่าวถึง การทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้มามากกว่า 5-6 ปีว่า กระทรวงการคลังพร้อมด้วยกระทรวงมหาดไทย กำลังศึกษาร่วมกันเนื่องด้วยหลังจากประกาศใช้ก็พบพบปัญหาในหลายๆ จุด อาทิที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะกุศล และที่ดินของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่อาจจะต้องมีการทบทวนจัดระเบียบประเภทของที่ดินให้มีความชัดเจน

ขณะเดียวกัน ในเรื่องการพิจารณาให้อำนาจองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังก็ให้ อปท. สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจได้ตามความเหมาะสม ว่าที่ดินเปล่า ที่เจ้าของมีการปลูกต้นไม้ ทำสวน กลังประเมินดูแล้วไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร ทาง อปท.ก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะเข้าเกณฑ์ใด ส่วนเรื่องอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันมองว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จึงยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับเพิ่ม