กสทช.-อีอีซี หนุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

กสทช. จับมือ อีอีซี ร่วมพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ด้วยเทคโนโลยี 5G & Beyond ส่งเสริมและผลักดันการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

  • ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
  • พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
  • ใช้เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมเต็มประสิทธิภาพ

 วันนี้ ( 16 มกราคม 2567) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างสำนักงาน กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช.  และ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.  ร่วมลงนามเพื่อร่วมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

นายไตรรัตน์  กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. พร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2563 สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวได้มีการขยายโครงข่ายคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ในเขตพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ครอบคลุมพื้นที่รวมแล้วประมาณ 95.70% ของพื้นที่ 

ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ และแอปพลิเคชันที่รองรับการทำงานของเทคโนโลยี 5G ให้เข้าถึงผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ได้มีการอนุญาตพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) ในพื้นที่โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยองและอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ   เพื่อดำเนินการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย  ในโครงการ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีด้วย 

ทั้งนี้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญที่ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce IoT ดิจิทัลคอนเทนต์ และคลาวด์คอมพิวติ้ง จากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Contribution to GDP ในภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่า ปี 2565 มีมูลค่าเพิ่ม ทางเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 2 ล้านล้านบาท และหากเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12.19 ในปี 2565 ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาครัฐจะต้องมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2570 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 “ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และ สกพอ. ในครั้งนี้ จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G & Beyond และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน (new s-curve) และเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอำนวยความสะดวกในการอนุมัติและออกใบอนุญาต เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาในเขต EEC สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป”  

ดร.จุฬา  กล่าวว่า จะร่วมมือกับ กสทช. พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่และการให้บริการโทรคมนาคมไร้สาย โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ที่จะเป็นกลไกสำคัญผลักดัน และจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่อีอีซีจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสร้างนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และ กสทช. ภายใต้ MOU นี้ที่สำคัญ ๆ เช่น ความร่วมมือในการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและผลักดันการลงทุนในพื้นที่อีอีซี การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล การสร้างฐานข้อมูลกลางเพื่อเชี่อมโยง และส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในการขับเคลื่อน ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาบุคลากร และร่วมกันส่งเสริมการศึกษา การสร้างพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G beyond รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ภายในพื้นที่อีอีซี ต่อไปในอนาคต