เปิดแล้ว ”ท่าเรือท่าเตียน” หนุนท่องเที่ยว-เดินทางทางน้ำปลอดภัย

คมนาคม เปิดท่าเรือท่าเตียน หนุนท่องเที่ยว-เดินทางทางน้ำปลอดภัย เผยมีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือจำนวน 29 แห่ง วงเงินกว่า 799 ล้านบาท 

  • เผยเจ้าท่าพร้อมทุ่มงบฯ ปี 68-69 อีกกว่า 350 ล้านบาท ยกระดับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 
  • จ่อให้เอกชนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ หวังกระตุ้นผู้ใช้บริการมากขึ้นเท่าช่วงก่อนโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 เม.ย.67) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ บริเวณท่าเรือท่าเตียน นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน โดยมี นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยผู้บริหารของกรมเจ้าท่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่  สมาคมเรือไทย ผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นางมนพร กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร วงเงินก่อสร้าง 39.047 ล้านบาท 

โดยท่าเรือท่าเตียน ถือเป็นโมเดลนำร่อง ตั้งแต่การออกแบบที่นำเอาสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก มาตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมบานหน้าต่างที่ใช้ลูกฝักเพื่อตบแต่ง รวมถึงคงเอกลักษณ์ที่เป็นการรักษาวัฒนธรรมในพื้นที่เดิมเอาไว้ พร้อมสีตัวอาคารที่ยึดตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า ที่สำคัญยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ทั้งอาคารพักผู้โดยสาร 2 หลัง และโป๊ะเทียบเรือ 6 x 12  เมตร 4 ลูก ที่แยกกันสำหรับเรือข้ามฝากท่าเตียน ไปฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี และเรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) เรือทัวร์ และเรือทั่วไป รวมถึงยังมีป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด ไฟฟ้าส่องสว่าง และทางลาดสำหรับผู้พิการด้วย

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เป็นลานกว้าง สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้มาเชคอิน ถ่ายภาพได้อย่างสวยงามเนื่องจากตรงข้างท่าเรือเป็นวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึง บริเวณใกล้เคียงยังมีพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ที่มีข้อมูลระบุว่ามาจากยุโรปประมาณ 80% นักท่องเที่ยวจีน 15 % และนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 5%

ขณะเดียวกันยังมีห้องควบคุมการเดินเรือ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยและจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันในแต่ละวันมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือท่าเตียนเฉลี่ย 3,500- 4,000 คนต่อวัน 

นางมนพร กล่าวอีกว่า กรมเจ้าท่าวางแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือจำนวน 29 แห่ง วงเงิน 799.798 ล้านบาท แบ่งเป็น ก่อสร้างท่าเรือ 629.98 ล้านบาท และติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในท่าเรือ 170.5 ล้านบาท 

สำหรับท่าเรือที่ดำเนินการมีดังนี้ ท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 10 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าเตียน ท่าสาทร และท่าเรือคลองสาน 

ส่วนท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง จำนวน 5 ท่า วงเงิน 149.952 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 67 ,ท่าเรือพระราม 5 ผลงาน 45 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 67 ,ท่าเรือปากเกร็ด ผลงาน 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 67 ,ท่าพระราม 7 ผลงาน 42 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 67 และท่าเกียกกาย ผลงาน 24 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 67 

ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างท่าเกียกกาย เป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการต่อไป

ขณะที่ในปีงบฯ 68 ได้วางแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า วงเงิน 169.4 ล้านบาท ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล ท่าเทเวศร์ ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา หากได้รับงบประมาณก็คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.68 และปีงบฯ 69 วางแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงท่าเรือเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า วงเงิน 180.9 ล้านบาท ได้แก่ ท่าราชวงศ์ ท่าวัดเทพากร ท่าพิบูลสงคราม 2 ท่าวัดเทพนารี ท่าวัดตึก ท่ารถไฟ ท่าพิบูลสงคราม ท่าสี่พระยา ท่าวัดเขมา ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง 

อย่างไรก็ตามคาดว่าการปรับปรุงท่าเรือทั้ง 29 แห่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 70

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยประมาณ 30,000 คนต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประมาณ 30% โดยตัวเลขของผู้โดยสารเมื่อปี 62 เฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 คนต่อวัน แต่คาดการณ์ว่าหลังจากการปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จ รวมถึงระบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะอื่นสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือได้อย่างสะดวกขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น และหากร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ….. มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้ในการเดินทางของประชาชนลงได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเดินทางทางเรือมากขึ้นอย่างแน่นอน 

ขณะเดียวกับกรมยังท่ายังเตรียมการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเชิงพาณิชย์ในการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งจะมีร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงการติดแอร์ และระบบตั๋วโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในปี 67 เพื่ออนุมัติในหลักการ ทั้งนี้คงไม่ได้ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการในทุกท่าเรือ แต่จะดำเนินการเฉพาะท่าเรือที่เหมาะสมและมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นการวางแนวทางสำหรับการบำรุงรักษาท่าเรือในอนาคต เพราะหากจะใช้งบประมาณภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ครอบคลุมทั่วถึงอย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นน่าจะเป็นสัดส่วนการลงทุนแบบเอกชน 70% และ รัฐลงทุน 30% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการนำร่องได้ใน 68 ในท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก เช่น ท่าเรือท่าสาทร ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน และ ท่าเรือบางโพ เป็นต้น