กทม. เผยผล WFH ที่ผ่านมา ลดปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงได้ถึง 8%

กทม. เผยผลให้หน่วยงานในสังกัด Work from Home มีผลทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงจากกล้องริมถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 100 จุด ลดลงประมาณ 8%

  • เผยการไม่เดินทางออกไปทำงานในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ
  • มีส่วนช่วยลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศ
  • ชี้ที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจาก รถยนต์ดีเซลสูงถึง 57%

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้หน่วยงานในสังกัด Work from Home (WFH) ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. 67 และขอความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 151 แห่ง (60,279 คน) ในการร่วม WFH ในช่วงเวลาเดียวกัน

พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครได้บันทึกสถิติค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงก่อนและหลังประกาศ WFH ไว้เพื่อเปรียบเทียบกัน โดยพบว่าค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงจากกล้องริมถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 100 จุด ทั้งพื้นที่ชั้นใน และพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 67 ก่อนจะมีการประกาศ WFH มีค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์อยู่ที่ 741 คันต่อชั่วโมง ส่วนวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 67 ที่ได้มีการประกาศ WFH มีค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์อยู่ที่ 688 คันต่อชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังประกาศ WFH ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ต่อชั่วโมงลดลงประมาณ 8%

นายพรพรหม กล่าวด้วยว่า การไม่เดินทางออกไปทำงานในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากการสัมผัสฝุ่นระหว่างการเดินทางแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการจราจรบนท้องถนนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พบว่า ที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจาก รถยนต์ดีเซลสูงถึง 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% การเผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่น ๆ 4%