“บาทแข็ง” เปลี่ยนส่งออกไทยเป็น “เทรดดิ้ง” รองรับความเป็นอิสระที่ทำร้ายปท.

บาทแข็งค่า
“บาทแข็ง” เปลี่ยนส่งออกไทยเป็น “เทรดดิ้ง” รองรับความเป็นอิสระที่ทำร้ายปท.


ได้ยินท่านผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกมาอธิบายว่า ทำ ไมแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องยึดถือหลักการ และเหตุผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรท ของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งประกาศปรับลดอย่างเป็นทางการลงรวดเดียว 0.50% เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ยังพูดถึงการทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วยว่า การลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่เหตุผลเดียวของการทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ท้ังนี้เพราะแบงก์ชาติ และธนาคารกลางทุกประเทศ มีความเป็นอิสระในการดำ เนินนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นๆ หรือปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น…

เอาจริงๆ ย่าพอจะเข้าใจในสิ่งที่ ดร.เศรษฐพุฒิ อรรถาธิบายมา เพียงแต่มีข้อสง สัยว่า การบริหารนโยบายดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนที่สุดแสนจะผันผวนจนบางคนเรียกมันว่า เหมือนรถไฟเหาะตีลังกายังไงยังงั้นน่ะ 

ไฉนจึงไม่มีมาตรการฉกฉวยโอกาสระยะสั้น หรือ การบริหารความเสี่ยงเฉพาะหน้าเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์บ้างเลยหรือไร?

สมัยก่อน โลกมีความกังวลอย่างเดียวว่า ค่าเงินอ่อน หรือแข็ง ขึ้นอยู่กับ เงินดอลล่าร์สหรัฐฯจะแข็ง หรือ อ่อนค่าเป็นสำคัญเท่านั้น แต่วันนี้มีทฤษฏีใหม่ที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์”(Abenomics) ที่มีเป้าหมายยิงปืนนัดเดียวให้ได้นก 3 ตัว

เริ่มจากการใช้นโยบายการเงินเชิงรุก การผ่อนคลายนโยบายการคลัง และ การวางยุทธศาสตร์หนุนการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน โดยนโยบายเหล่านี้จะเริ่มต้นได้ดี ก็ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 0% หรือ -0 – 0% 

ผลลัพท์ที่ได้คือ ค่าเงินเย็นอ่อนตัวลงอย่างมากจนทะลุลงต่ำกว่า 160 เยนต่อดอลล่าร์สรอ.หรืออ่อนตัวลงแรงสุดในรอบ 37 ปี จนทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจที่ซบเซามานานกว่า 15 ปี กลับมาขยับเขยื้อนฟื้นตัวได้อีกครั้ง และขยายตัวได้สูงถึง 3.5% ในปีแรก

การว่างงานลดลง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นมีกำไรสูงขึ้นเกือบ 900 บริษัท จากความสามารถในการแข่งขันที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งรถยนต์ อู่ต่อเรือ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ 

ที่สำคัญ การอ่อนค่าของเงินเยนดังกล่าวยังส่งผลให้การส่งออกของประเทศต่างๆที่เป็นคู่แข่งในตลาดโลกของญี่ปุ่นเกิดปัญหาไม่สามารถสู้ราคากันได้ด้วย

จากที่เคยต้องแขวนญี่ปุ่นทั้งประเทศไว้กับค่าเงินดอลล่าร์สรอ.ตามการกดดันของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในทุกไตรมาสไม่ให้เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลงเกินกว่า 80 – 120 เยนต่อดอลล่าร์สรอ. ถึงวันนี้ญี่ปุ่นสามารถโบยบินไกลโพ้นแล้ว

กลับมาที่อัตราดอกเบี้ย กับเงินบาทที่กำลังแข็งค่าในระดับ 32 บาทต่อดอลล่าร์

สรอ. ย่าว่า น่าจะมีส่วนจริงอยู่ตรงที่แบงก์ชาติติดยึดอยู่กับนโยบายระยะยาวที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะกับเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation Targeting) 

กล่าวอีกนัยคือ จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ก็จำต้องรอให้ครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้แต่แรก 

ตามทฤษฏีของ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร บรมครูนักเศรษฐศาสตร์ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี พูดเรื่องนี้ว่าแทนที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือร่วมกับเครื่อง มือทางการเงินอื่นๆ ก็ทำไม่ได้ ก็เพราะติดกรอบเงินเฟ้ออยู่ประเด็นเดียวในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงต่ำกว่าเป้ามาตลอด 

ที่แย่กว่านั้น คนไทยยังมีทัศนคติที่แปลกมากตรงที่ไม่อยากทำอะไรที่ตัวเองต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายขึ้นมา อยู่เฉยๆจึงดีกว่า เอาตัวเข้าไปสู้ หลาย

ครั้งจึงพบว่ามีคนออกมา “แก้ตัว” มากกว่า จะ “แก้ไข”

ไม่ก็มักจะอ้างว่า อัตราแลกเปลี่ยนไม่กระทบต่อการส่งออก หรือ กับเศรษฐกิจประ เทศ บ้างก็ว่า ผู้ส่งออกต้องรู้จักปรับตัว เป็นต้น

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวตึงของส.อ.ท.ให้ความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งไปกว่านี้ หรือ เลยไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สรอ. การส่งออกของประเทศไทยที่ดีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 15 เดือน ด้วยค่าเงินบาทที่เฉลี่ยระดับ 36.50 – 37 บาท จะขาดทุน หนี้สินท่วม

โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งหลายจะเปลี่ยนตัวเองเป็น เทรดดิ้ง ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายต่อ ในขณะที่ความสามามารถทางการแข่งขันจะลดต่ำลง จะมีคนจำนวนมากต้องตกงาน เสียทั้งแชร์การผลิต และการขาย

ส่วนนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางเข้ามามากเพราะค่าบาทถูก ก็จะชะลอการเดินทางออกไป “อย่าอยู่กับทิฐิ หรือ ความเป็นอิสระที่ทำร้ายความสามารถของประ เทศเลย” อิศเรศ กล่าว

การพูดว่าอัตราดอกเบี้ยไม่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับเป็นการพูดที่ไม่ตรงความเป็นจริง และอาจจะทำให้เกียรติภูมิขององค์กรเสียหายได้ 

ย่าก็ได้แต่คาดหวังว่า กระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติ จะหาทางออกเรื่องนี้ได้ โดยเร็ววัน 

คุณย่าขาซิ่ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐ-เอกชน รุมสกรัม “ธปท.” แก้ปัญหาบาทแข็ง