“BBC” สื่อใหญ่เมืองผู้ดี ประกาศเตรียมยุติออกอากาศสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ ภายในปี 2030

  • จ่อผันตัวสู่การผู้ผลิตเนื้อหาทางออนไลน์อย่างเต็มตัว
  • ชี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่องค์กรสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ทั่วโลกต้องเผชิญ
  • เผยพฤติกรรมผู้รับสื่อเริ่มเปิดรับวิทยุ-โทรทัศน์ลดลงเรื่อยๆ สวนทางสื่อออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตทุกปี

นายทิม เดวี ผู้อำนวยการใหญ่ บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี (British Broadcasting Corporation) หรือ BBC กล่าวบนเวทีสมาคมโทรทัศน์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Television Society: RTS) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ธ.ค.65) ว่า บีบีซี มีแผนกำลังเตรียมจะยุติการออกอากาศสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่องในเครือ ภายในทศวรรษหน้า (ทศวรรษ 2030s) และจะผันตัวไปเป็น ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ (Online Content Provider) เต็มตัว

ทั้งนี้ การวางแผนครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่องค์กรสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั่วโลกต้องเผชิญ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้รับสื่อเริ่มเปิดรับวิทยุและโทรทัศน์ลดลงเรื่อยๆ ต่างจากสื่อออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นทุกปี การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีแต่จะเข้มข้นมากขึ้นในระยะยาว จนยากที่องค์กรสื่อวิทยุและโทรทัศน์อย่างบีบีซีจะหลีกเลี่ยงไปได้

นายทิม กล่าวด้วยว่า การวางแผนยุติการออกอากาศโทรทัศน์ของบีบีซี จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงฐานผู้ชมเป็นหลัก เช่น จะเริ่มเปลี่ยนผ่านช่อง CBBC และ BBC Four ที่มีกลุ่มผู้ชมหลักเป็นคนรุ่นใหม่ไปสู่ระบบออนไลน์ก่อน ส่วนช่องทีวีเก่าแก่ เช่น BBC One และ BBC Two ที่ยังคงมีกลุ่มผู้สูงอายุรับชมอยู่มาก จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบของบีบีซี ยังคงมี อุปสรรคที่ท้าทายอยู่ 3 ประการ อันประกอบไปด้วย

1.เมื่อละทิ้งการออกอากาศในรูปแบบดั้งเดิม บีบีซีจะกลายเป็นเพียงหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์ที่มีอยู่แล้วจำนวนมหาศาล คำถามก็คือ บีบีซีจะมีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้หรือไม่ และอย่างไร

2.กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนในชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะเข้าถึงบีบีซีในฐานะสื่อสาธารณะได้อย่างไร

3.รายได้ของบีบีซีที่แต่เดิม ได้รับจากค่า TV License ก็จะหายไป แม้จะมีการวางแผนรับรายได้รูปแบบใหม่จากภาษีและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต Broadband ไว้แล้วก็ตาม

สำหรับ ความเป็นมาของบีบีซีฉบับย่อ เป็นบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี ก่อตั้งเมื่อปี 2465 โดยนายจอห์น รีท มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บรอดคาสติงเฮาส์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และยังมีศูนย์ผลิตรายการอยู่ที่เมืองซอลฟอร์ด, เบลฟัสต์, เบอร์มิงแฮม, บริสตอล, คาร์ดิฟฟ์ และกลาสโกว์ รวมทั้งศูนย์ผลิตรายการย่อยอีกจำนวนมากทั่วประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ บีบีซียังเป็นองค์กรด้านสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุด และยังเป็นสถานีออกอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รวมถึง บีบีซี ยังเป็นหน่วยงานด้านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาต (Royal Charter) และดำเนินกิจการตามข้อตกลงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ของอังกฤษ

การดำเนินงานของบรรษัทได้รับการอุดหนุนด้านการเงินเป็นหลักจากค่าธรรมเนียมการรับชมโทรทัศน์ซึ่งเรียกเก็บจากครัวเรือน บริษัท และองค์กรทุกแห่งในสหราชอาณาจักรที่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามในการรับชมการแพร่ภาพโทรทัศน์ รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภานอกจากนี้ ยังได้รับเงินทุนจากค่าภาคหลวงในการขายชุดรับสัญญาณไร้สายของบีบีซีจากผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับอนุมัติ

สำหรับนายจอห์น รีท ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทั่วไปในเดือนธันวาคม 2465 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่บริษัททำการออกอากาศครั้งแรกอย่างเป็นทางการแนวปฏิบัติของรีท คือเพื่อ “แจ้งข่าว ให้ความรู้ และให้ความบันเทิง”

ที่มา : BBC preparing to go online-only over next decade, says director general และ วิกีพีเดียสารานุกรมเสรี