ส่อง 8 ข้อเสนอรัฐจากสภาพัฒน์ “วันเศรษฐกิจฟื้น”



หลังจากที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาส 3/63 หดตัว -6.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว -12.1% ในไตรมาส 2/63 รวมทั้งเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าการคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า อาจจะทำให้คนที่เห็นตัวเลขที่ออกมามีความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น 

โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ GDP ของไทยหดตัวประมาณ  -6.7% ดีขึ้นการประมาณการในช่วงก่อนหน้า ทำให้สภาพัฒน์ปรับขึ้นประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีว่า จะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -7.55% ในการประมาณการครั้งก่อน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการที่เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีนี้ ติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

โดยในปีนี้สภาพัฒน์ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ -7.5% การนำเข้า -13.8% ดุลการค้าเกินดุล 38.3 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ -0.9% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ -3.2% การลงทุนภาคเอกชน -8.9% การลงทุนภาครัฐ 13.7% การบริโภคภาคเอกชน -0.9% การอุปโภคภาครัฐบาล 3.6% ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 41.8 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์

โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์  ระบุว่า “เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในไตรมาสนี้มาหลายๆ ปัจจัยผสมกันไป ไม่มีปัจจัยไหนเป็นพระเอก ดังนั้นในระยะนี้และระยะถัดไป จะต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน” 

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ หากไม่มีปัจจัยใดที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3  โดนสสภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายได้ที่ระดับ 3.5-4.5% 

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจำนวนมาก การพักหนี้สินเป็นการทั่วไปนั้น อาจจะไม่ยั่งยืนเท่าที่ควรจะเป็น ท่ามกลางการมองไปข้างหน้าที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2-3 ไตรมาส 

โดยต้องรอที่จะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน หรือ เริ่มเห็นการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น เห็นเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เห็นการทำงานเต็มเวลาในครึ่งหลังของปี 64 ดังนั้น วันนี้พวกเราทุกคน โดยเฉพาะรัฐบาลยังคงประมาทไม่ได้

สำหรับ “ปัจจัยบวกและลบ” ที่สภาพพัฒน์แสดงเป็นห่วง และอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวในระยะต่อไป คืออะไรบ้างนั้น  มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อถึงรัฐบาล ที่อยากให้เร่งดำเนินการในช่วงต่อไป…ดังนี้

1. คือ การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิดรอบสอง ดังนั้น การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดระลอกที่สองภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ  รวมทั้งการดำเนินงานด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 

2.จำนวนคนตกงาน หรือรายได้ลดลงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น การประคองภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยต้องเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือดูแลแรงงาน 

การรณรงค์ให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น รวมทั้งขยายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค

ทั้งนี้ สภาพัฒน์พบว่า ชั่วโมงการทำงานของแรงงานไทยเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 43.5 ชม./สัปดาห์ มาเหลือ 41.6 ชม./สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลา หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ลดลง 19.7% ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงานที่อาจลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน ขณะที่ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน สถานการณ์หนี้ครัวเรือนใน ไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่า  มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83.8% ต่อ GDP  ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ แม้วันนี้ภาพรวม สภาพัฒน์บอกว่าไม่มี “พระเอก” แต่ปฏิเสธไม่ได้ได้ว่าเงินจากภาครัฐถือเป็นแหล่งเงินเดียว ที่มีความสามารถในการใช้จ่ายได้ในขณะนี้ ดังนั้น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 64 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนการเบิกจ่ายตามโครงการใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกถือเป็นภาคส่วนที่ฟื้นเร็วกว่าคาดภาคหนึ่งของไทยในช่วงวิกฤตโควิด ดังนั้น ความพยายามของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการส่งออก ถือเป็นจุดสำคัญที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน 

โดยเน้นการขับเคลื่อนสินค้าส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญและการสนับสนุนให้ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท 

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 61-63 ให้เกิดการลงทุนจริง, ขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต, ประชาสัมพันธ์จุดแข็งของไทย เช่น Health Care เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ 

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรเป็นส่วนช่วยการใช้จ่ายในชนบท 

7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น

8. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  โดยในระยะปานกลาง การยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ โดยดำเนินการควบคู่กับการแก้ปัญหาในขณะนี้  

ในวันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เรายังเห็นงานหนักที่ต้องทำในอนาคตข้างหน้า และทั้ง 8 ข้อนี้ ถือเป็น “คีย์เวิร์ด” สำคัญของรัฐบาลในช่วง 1 ปีจากนี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นต่อแบบไหน และอย่างไร