“โอไมครอน” ความเสี่ยงของ K-Shape Model



ยังไม่ทันเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงหนึ่งที่จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดทั่วโลก การระบาดของโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ “Omicron” (โอไมครอนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำท่าว่า “พลิกเกม” การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั่วโลก   

เพราะแม้ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึง “ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ และความรุนแรงของอาการป่วย” มากนัก แต่วงการแพทย์คาดว่า การกลายพันธุของ 32 ตำแหน่งในดีเอ็นเอของ “โอไมครอน”  จากโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม จะส่งผลให้การแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” ง่ายกว่า และเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 1 เท่าตัว 

และที่สำคัญกว่านั้น คือ เชื่อว่า “โอมิครอน” สามารถหลบเลี่ยงและต่อต้านวัคซีน และภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเดิม ทำให้วัคซีนเดิมที่เรามีอยู่ด้อยประสิทธิภาพลง และมีแพทย์บางคน ออกมาระบุว่า การตรวจด้วย ATK อาจจะไม่สามารถที่จะพบการติดเชื้อ “โอไมครอน” ได้

ทั้งนี้ ใน “ข้อเท็จจริง” อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการ “ยืนยันผล” แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดของ “โอไมครอน” ที่พบมากขึ้นๆ ในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป แคนาดา และเอเชีย รวมทั้งการสั่งยุติเที่ยวบินจาก 8 ประเทศในแอฟริกาที่มีการระบาดของ “โอไมครอน” ได้สร้างความปั่นป่วนรุนแรงให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก 

ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลว่า หาก “โอไมครอน” มีการระบาดรุนแรงเท่ากัน หรือ ช่วงการระบาดของโควิด “เดลตา” จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว มีความเปราะบางและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คิดไว้

ที่สำคัญคือ จะไม่ได้ กระทบเศรษฐกิจแค่ “เศรษฐกิจในพื้นที่เปราะบาง” อย่าง ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว ขนส่ง ฯลฯหรือ K ขาล่างเท่านั้น แต่ธุรกิจ K ขาบน อย่างส่งออก หรือ ภาคการใช้จ่ายก็น่าจะถูกกระทบด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น หากวิกฤตโควิดยังคงลากยาวข้ามปี 64 ต่อเนื่องไปในปี 65 เป็นปีที่ 3 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาจจะมีมากขึ้น ส่งผลให้มีการปิดกิจการของธุรกิจ และการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ “สายป่านสั้น” รวมทั้งธุรกิจซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อประคองธุรกิจ และการจ้างงานเอาไว้ 

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าโดยตรงที่เราทำกับประเทศในแอฟริกาจะไม่สูงมากแต่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างแอฟริกาและยุโรป ทำให้โอกาสที่ “โอไมครอน” จะกลับมาระบาดรุนแรงในยุโรปรอบใหม่สูงมาก และจากยุโรป สามารถที่จะระบาดไปทั่วโลก และการระบาดจากประเทศที่ 3 เหล่านี้ อาจจะส่งต่อผลกระทบมายังประเทศไทยได้ ทั้งการส่งต่อผู้ติดเชื้อ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น ยังมีความกังวลด้วยว่า การระบาดที่ยาวนานของโควิดจะซ้ำเติม “การเติบโตที่เหลื่อมล้ำ” ของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเป็นห่วงศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต 

โดยยกตัวอย่าง “ข้อเท็จจริง” ของเศรษฐกิจไทยที่ การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทย โดยล่าสุด หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของผลิตภัฯฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว 

และหนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน หากรายได้ไม่โต ทางเดียว คือ ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงอยู่เดิม ยิ่งทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้ยาก แล้วเศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก

นอกจากนั้น หากดูในด้านรายได้ เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม กระจุกตัวอยู่เพียง 11 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

กำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ที่ปัจจุบันSMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน นอกจากนั้น ตระกูลรวยที่สุด 50 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน

และหาก “โอไมครอน” ทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่าย และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้แผนเปิดประเทศของไทย รวมทั้งแผนลงทุนของภาคธุรกิจล่าช้าออกไปอีก จะกระทบทั้งทั้งในส่วนของ K ขาบนและ K ขาล่าง  และส่งผลให้จากที่เคยมองกันว่า ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ช่วงต้นปี 65 และคนเริ่มรู้สึกว่ากลับมาซื้อง่ายขายคล่องในช่วงต้นปี 66 นั้นอาจจะล่าช้าออกไปอีกเป็นปี

และเช่นเดียวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก วิกฤตเศรษฐกิจที่ยาวนานจะสร้างบาดแผลที่ลึกมากขึ้น ทั้งในด้านรายได้ตลาดแรงงาน และความเหลื่อมล้ำให้กับเศรษฐกิจไทย และจะส่งผลต่อเนื่องถึงวิกฤตสังคม และการเมืองในประเทศที่อยู่ในช่วงเปราะบาง

ดังนั้น โอกาสที่จะลดผลกระทบก็คือ การควบคุมไม่ให้ “โอไมครอนระบาดรุนแรงในประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยปลอดภัยมาเพียงพอสำหรับการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และการลงทุน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวในทวีปยุโรปที่กำลังต้องการหนีหนาว และหนีการระบาดของ “โอไมครอน” มาพักในประเทศปลอดภัย

หากเราทำเหมือนในช่วงแรกที่เราสามารถคุมการระบาดของโควิดระลอกแรกได้ ในขณะที่เรามีมาตรฐานสาธารณสุขที่ปลอดภัยมากขึ้น มีจำนวนผู้คนที่ฉีดวัคซีนในระดับที่น่าพอใจ เชื่อว่า เราจะใช้เวลานี้แปรวิกฤตเป็นโอกาสได้อีกครั้งแต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรงได้ นับตั้งต้นตั้งปีใหม่ปี 64 ปีนี้เป็นอย่างไร ในปี 65 เราจะเดินต่อไปในรูปแบบเดิม