5 ข้อคิดเตรียมใจ รู้ไว้ หากจะให้ใคร “ยืมเงิน”

เงินๆ ทองๆ เป็นของไม่เข้าใครออกใคร แต่ไม่มีมันก็อยู่ไม่ได้เสียด้วย !!

แล้วถ้าวันหนึ่งเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก มันอันมา “ขอยืมเงิน” แต่คุณไม่รู้จะทำอย่างไร จะให้ยืมดีไหม ให้จ้านวนเท่าไหร่ ให้เพราะอะไร หรือถ้าไม่ให้จะผิดใจกันไหม และที่สำคัญที่สุด ไม่อยากเสียเพื่อน เสียญาติไปเพราะ “ยืมแล้วไม่คืน “ หรือ กลายเป็นเหินห่างไม่เจอหน้าเจอตา เพราะหาเงินมาคืนเราไม่ได้

เอาละ คราวนี้ “ปัญหาของเขา” กลายมาเป็นความเครียด ความทุกข์ของเราแทน

เรามี 5 ข้อ ให้ลองคิดกันดูว่า เราพร้อมที่จะเป็น “เจ้าหนี้” หรือไม่และเป็นอย่างไรให้ไม่ทุกข์ระทม

ข้อที่ 1 ไม่พร้อม -ทำใจไม่ได้ อย่างให้ยืมตั้งแต่แรก

ลองถามใจ และทุนทรัพย์ของตัวเองก่อนว่า พร้อมหรือไม่ที่จะให้ความช่วยเหลือ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ต้องเอาเงินส่วนที่จะใช้จ่ายในอนาคต เช่น เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถมาให้ เงินเก็บเพื่อแต่งงาน ค่าเทอมลูก  หรือยืมคนอื่นมาให้ยืมต่ออีกที อย่างนี้ควรปฏิเสธให้ชัดเจนตั้งแต่แรก อย่าเกรงใจ หรือรู้สึกผิด เพื่อตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ของคุณและคนที่มาขอยืมเงินไว้ได้ด้วย 

ข้อที่ 2 ถึงพร้อม ก็ให้ยืมเท่าที่เราไหวและจำเป็นเท่านั้น

ถ้าจะให้คนใกล้ชิดยืมเงินนั้น พยายามให้เขาเท่าที่เขาจำเป็น หรือในจำนวนที่เราเองสามารถรับได้ และตัดใจทิ้งได้ โดยไม่เดือดร้อนหากไม่ได้เงินคืน เพราะถ้าให้จำนวนมากเกินไป เราเองอาจจะเกิดปัญหาเสียเอง หากมีความขลุกขลักด้านการเงินในอนาคตขึ้นมา

ข้อที่ 3 ตกลงให้ชัดว่า “ยืม” หรือ “ให้”

เพราะลูกหนี้บางรายจะอ้างว่า “นึกว่าให้” หรือบางรายจะอ้างว่า คุณไม่เดือดร้อน มีเงินใช้จะรีบเอาคืนทำไม หรือบางรายที่ร้ายๆ พลิกจาก “ยืม” กลายเป็น “ขอ” ไม่ให้คืนเอาดื้อก็มี 

ข้อที่ 4 ถ้าเป็นเงินก้อนใหญ่ให้มีแผนการจ่ายคืน หรือทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร

โดยให้ระบุรายละเอียดที่ตกลงกันให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ให้ยืมและผู้ยืม เช่น ระยะเวลาให้ยืม ในกรณีผ่อนจ่าย จะจ่ายเท่าไร และอย่างไร หรือถ้าเป็นไปได้ ควรมีการสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร หากจ้านวนเงินที่ให้ยืมมีมูลค่ามาก

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 กำหนดไว้ว่า สามารถทำหนังสือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเพื่อให้ฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้ ในกรณีวงเงินยืมเกิย 2,000 บาท

ข้อที่ 5 สุดท้าย อย่ากังวลหรือทุกข์ใจ รวมทั้งเผื่อใจสำหรับการไม่ได้คืนที่ไม่คาดฝัน

ถ้าทำแล้ว คิดแล้วทุกขั้นตอน หลังจากให้ยืมไปแล้วก็ควรปล่อยใจให้สบาย  และต้องทำใจว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอด ทั้งในส่วนของเรา และลูกหนี้ บางครั้ง ที่เราไม่ได้เงินคืน ไม่ใช่เพราะลูกหนี้ต้องการเบี้ยวหนี้ แต่อาจะเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุสุดวิสัยก็ได้เช่นกัน

แต่ถ้าเป็นลูกหนี้แบบที่เงินไม่กี่พันบาทไม่ยอมคืน แต่โพสต์รูปกินอาหารมื้อละเป็นหมื่นบาท หรือทริปเที่ยวต่างประเทศ ลงในโลกโซเซียลรัวๆ เหมือนไม่เดือดร้อนอะไร อันนี้เจ็บแล้วช่วยจำด้วยว่า “อย่าใจอ่อนซ้ำอีก”

ทางที่ดีที่สุด คือ การไม่ประมาท เตรียมเงินออม หรือทางออกทางการเงินสำรองไว้ เผื่อฉุกเฉินเพื่อให้พร้อมรับมือกับอนาคตได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องไปยืมใครให้กลายเป็นปัญหาระยะยาว