ไวกว่าไลน์ขอยืมเงินเพื่อน “กสิกรไทย” ผนึก “ลาซาด้า” ปล่อยกู้แม่ค้าออนไลน์ กดกู้ปั๊บ รู้ผลใน 1 นาทีรับเงิน

  • ไม่ต้องมีหลักประกัน-ไม่ใช้เอกสาร
  • ตั้งเป้าปี 63 ปล่อยกู้ 1,000 ล้านบาท หรือ 10,000 ราย
  • ยอดเงินตั้งแต่หลักพันถึงสูงสุด 600,000 บาท
  • ดอกเบี้ย 12-19% ขึ้นกับความเสี่ยงและวงเงินกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมกับลาซาด้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า โดยเพียงสมัครยื่นขอสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชัน Lazada Seller Center และดำเนินการตามขั้นตอน และรอผลการอนุมัติสินเชื่อที่ใช้เวลาภายใน 1-3 นาที หลังจากนั้นรับเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ทันที

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทย ทำให้การค้าขายออนไลน์คึกคักมากขึ้น โดยพบว่า อีคอมเมิร์ซของไทยขยายตัวถึงปีละถึง13%และคาดว่าใน1-2ปีข้างหน้าจะโตไปได้ถึง 15-20%ต่อปี มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 300,000ล้านบาท 

โดยแต่ละวันมีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้จำนวนมาก แต่ปัญหาสำคัญของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คือ ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น เอกสารไม่เพียงพอ ไม่ได้เดินบัญชี ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมมือกับลาซาด้า สนับสนุนการทำธุรกิจและปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อ ให้ผู้ขายที่มีการทำธุรกิจจริงบนลาซาด้า สามารถเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น ด้วยการเสนอสินเชื่อเงินด่วนเพื่อร้านค้า Lazada (Xpress Loan) โดยกำหนดวงเงินกู้ได้ตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงวงเงินกู้สูงสุด 600,000 บาท ตั้งเป้าปี63ปล่อยกู้ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10,000 ราย โดยคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 12-19% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและวงเงินกู้ของผู้ค้าแต่ละราย โดยผู้กู้ไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องยื่นเอกสาร และยังฟรีค่าธรรมเนียมในการกู้ด้วย  โดยให้ระยะเวลาการกู้สูงสุด6เดือน เพื่อช่วยให้ธุรกิจออนไลน์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย มีเงินทุนไปใช้ในการหมุนเวียนและต่อยอดธุรกิจได้ทันความต้องการ ส่วนการชำระคืนหนี้นั้น ธนาคารจะหักจากบัญชียอดขายของผู้ค้าหรือลูกหนี้ในทุกเดือน จึงถือว่าเป็นเงินกู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ

“ลาซาด้าได้คัดผู้ค้าออนไลน์มาให้ธนาคารระดับหนึ่งแล้ว จากข้อมูลData พฤติกรรมการค้าขายของผู้ค้าที่ลาซาด้าจะรู้จักและมีข้อมูลลูกค้าเหล่านี้อยู่แล้ว ทำให้เราสามารถอนุมัติได้รวดเร็วขึ้น ภายในเวลาเพียง 1นาทีหรือไม่เกิน3นาที จะรับรู้ผล และโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้ค้าได้ทันที ถือว่าเร็วกว่าการไลน์ไปขอยืมเงินเพื่อน เพราะต้องถามกันไปมาเพื่อยืนยันว่าเป็นเพื่อนตัวจริงไม่ได้ถูกแฮกไลน์มายืม โดยธนาคารได้ทดลองปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ขายออนไลน์บนลาซาด้าไปบ้างแล้ว และได้ผลตอบรับที่ดี”

ด้านนายแจ๊ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ค้าออนไลน์ของไทย บนลาซาด้าที่มีการซื้อขายactive เฉลี่ยประมาณวันละ 50,000ราย ซึ่งอีคอมเมิร์ชหรือตลาดซื้อขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเคิบโตที่สูงมาก รวมทั้งประเทศไทย โดยมีการเติบโตอย่างมากทั้งผู้ซื้อและยอดขาย โดยโตปีละกว่า 100% แต่ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เพราะมูลค่าการซื้อขายอีคอมเมิร์ชของไทยมีสัดส่วนเพียง3%ของมูลค่าภาพรวมค้าปลีก ขณะที่ตลาดจีนมีสัดส่วน 20% และสหรัฐฯ 15%

“ลาซาด้าเชื่อว่าบริการสินเชื่อเงินด่วนที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เข้าถึงเงินทุนที่ต้องการ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตก้าวไกลได้อย่างไร้ขีดจำกัด ขณะเดียวกันในด้านแพลตฟอร์มเองก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยขยายฐานผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

 นายแจ๊ค จางยังกล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจหลักของลาซาด้าคือการนำเสนอโอกาสที่เท่าเทียม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพราะเชื่อว่าไม่มีแบรนด์ใดใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปสำหรับการประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อเปิดตัวบริการการให้บริการสินเชื่อเงินด่วนแก่ผู้ขายบนแพลตฟอร์มลาซาด้า จึงเป็นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ขายออนไลน์ ช่วยยกระดับแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย นับได้ว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของการยื่นของสินเชื่อเพียงขั้นตอนง่ายๆ แค่สมัครยื่นขอสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชัน Lazada Seller Center ดำเนินการตามขั้นตอน จากนั้นรอดูผลการขอสินเชื่อในระยะเวลาที่กำหนด

“ลาซาด้าเชื่อว่าบริการสินเชื่อเงินด่วนที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เข้าถึงเงินทุนที่ต้องการ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตก้าวไกลได้อย่างไร้ขีดจำกัด ขณะเดียวกันในด้านแพลตฟอร์มเองก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยขยายฐานผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน”