ไม่ต้องห่วง!ปลัดคมนาคมแจงยิบซักซ้อมแผนให้บริการรถไฟฟ้าแล้วหลังประชาชนเริ่มกลับมาใช้บริการทะลัก

  • ปลัดคมนาคมแจงได้ซักซ้อมแผนให้บริการรถไฟฟ้า
  • หลังประชาชนเริ่มกลับมาใช้บริการจำนวนมาก
  • ขอเว้นระยะห่างยืนยันมีมาตรการให้บริการป้องกันโควิด-19

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เผิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงคมนาคมได้ปรับการให้บริการขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ โดยได้ออกคำสั่งระงับการเดินรถโดยสารรถประจำทางระหว่างจังหวัด 203 เส้นทาง 20 จังหวัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และระงับการเดินรถไฟระหว่างจังหวัดจาก 500 กว่าขบวน ให้เหลือ 43 ขบวนต่อวัน รวมถึงงดการให้บริการเดินรถไฟสายยาวเพื่อป้องกันการคาบเกี่ยวช่วงระยะเวลาเคอร์ฟิว

ส่วนกรณีที่ปรากฏภาพตามโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงความแออัดในการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ว่า หลังจาก ศบค. ผ่อนคลายมาตรการระยะแรก ทำให้ประชาชนทยอยเดินทางมากขึ้น และเนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดปัญหาความขัดข้องของระบบรถไฟฟ้า 3-4 ขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน จึงเกิดความหนาแน่นของประชาชนจนไม่สามารถจัดการเรื่องจำนวนคน การเว้นระยะห่างได้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ได้นำมาปรับปรุง และมีการซักซ้อมวิธีการจัดการว่าจะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารใช้บริการได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย ทั้งนี้จากการติดตามพบว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. และวันที่ 8 พ.ค. พบมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น มีการเว้นระยะห่าง และได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ

นายชัยวัฒน์ กล่าวยอมรับว่า จากการที่ประชาชนมีข้อร้องเรียนเรื่องรอคิวนาน ทำให้เสียเวลานั้น เนื่องจากในช่วงนี้ไม่สามารถให้ผู้ใช้บริการขึ้นได้ตามปกติ คือ 1,000 คนต่อขบวนเที่ยว เพราะต้องเว้นระยะห่าง จึงสามารถบรรจุคนเหลือเพียง 250 คนต่อหนึ่งขบวน ลดลง 1 ใน 4 ถือเป็นความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอด คัดกรองอุณหภูมิ ทั้งก่อนเข้าสถานี ก่อนขึ้นรถเมื่อถึงสถานีปลายทางก็จะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิอีกครั้ง ส่วนการให้บริการรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงมีมาตรการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิเช่นเดียวกับการให้บริการทางเรือโดยสาร

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงการให้บริการทางท่าอากาศยาน ว่า ขณะนี้ 5 สายการบินกลับมาให้บริการ และได้เปิดท่าอากาศยานรองรับการเดินทางทางอากาศ 18 แห่ง ทั้งหมดเป็นการบินภายในประเทศ ทั้งนี้มีข้อกำหนดท่าอากาศยาน 18 แห่งในประเทศเปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00-19.00 น. เพื่อให้ผู้โดยสารและพนักงานเดินทางทันในช่วงระยะเวลาการประกาศเคอร์ฟิว

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม มีความห่วงใยผู้โดยสาร โดยได้กำหนดมาตรการรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีข้อแนะนำว่าผู้ที่มีไข้ไม่ควรเดินทาง มีเครื่องเทอร์โมสแกนทุกสถานี เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าให้บริการด้วยความปลอดภัยได้มีการทำความสะอาดยานพาหนะและพื้นที่ของสถานีแต่ละแห่งเป็นประจำ ส่วนพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารหรือขายตั๋ว ได้มีการดูแลสุขภาพอย่างดี ไม่ให้เป็นการเพาะเชื้อ พร้อมขอให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อกำหนดแม้จะไม่ได้รับความสะดวกและบังคับว่าจะต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ขณะที่การเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ขอให้ศึกษาคำสั่ง หรือคำประกาศของแต่ละจังหวัด เพราะจะมีบางจังหวัดที่จะต้องมีหนังสือรับรอง และต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน

เมื่อถามว่า ขบวนรถไฟฟ้ามีความหนาแน่น จนผู้โดยสารรอล้นออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที หรือรถไฟฟ้า บีทีเอส นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตามหลักการเมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้น จำเป็นต้องปรับขบวนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งให้เต็มพิกัด ซึ่งทาง รฟม.และบริษัทรถไฟฟ้า ได้มีการปรับขบวนและเก็บข้อมูลเพื่อให้วิ่งได้มากขึ้นเต็มพิกัด แต่มีข้อจำกัดเรื่องความถี่ของขบวนรถไฟ เพราะต้องเว้นช่วงขบวนละ 3 นาทีเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐาน และถึงแม้จะปรับขบวนให้มีความถี่มากแล้วก็ตาม แต่ยังมีจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการมาขึ้นรถไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นขอให้ผู้โดยสารได้เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงต้องจัดสถานที่ให้รอเพื่อลดความแออัด ส่วนในขบวนรถไฟฟ้าได้มีการเว้นระยะห่างที่นั่งของเก้าอี้และในส่วนที่ยืน จะมีการทำเครื่องหมาย ทั้งนี้ขอให้ผู้ใช้บริการได้เตือนตัวเองว่าทุกคนต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร