ไทยอันดับ 1 ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์อาเซียน

  • อันดับ 7 ของโลกด้วยมูลค่า 380 ล้านเหรียญฯ
  • พาณิชย์ชี้เอฟทีเอหนุนส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง
  • เหตุคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ยกเลิกเก็บภาษีจากไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทย พบว่า การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 7 ของโลก สำหรับช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 66 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 380.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 357.7 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 8.3% สัดส่วนถึง94.1% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปโลก โดยตลาดคู่เอฟทีเอที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว6.9% จีน 41.4% ฮ่องกง 18.6% ออสเตรเลีย 21.8% และอินเดีย 137.6% สินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์)

“สินค้ากลุ่มนี้ ขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกสูง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน เพราะไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว ในช่วง 7 เดือน ขอใช้สิทธิส่งออกไปอาเซียน 308.1 ล้านเหรียญฯ จากมูลค่าที่ส่งออกไปอาเซียนทั้งหมด 357.7 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 6.9% ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น ลาว ขยายตัว 14.2% ฟิลิปปินส์13.3% และมาเลเซีย 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นมยูเอชที 86.6 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต 78.3 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม 12.2 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 18.8% และหางนม (เวย์) 4.3 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 41.8%”

นางอรมน กล่าวอีกว่า เอฟทีเอของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรูที่ลดภาษีนำเข้าบางรายการให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29% และชีส 22.4-40%

ส่วนเกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม 26.8% โยเกิร์ต 28.8% ชีส 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ต แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ญี่ปุ่น ทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 80