ไข้เลือดออกในเด็ก…ไม่ควรประมาท

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะผู้ปกครองระวังโรคไข้เลือดออกในเด็ก…ไม่ควรประมาท โรคไข้เลือดออก  มียุงลายเป็นพาหะนำโรค

  • โรคไข้เลือดออก  มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
  • แนะนอนในมุ้ง ทายากันยุง 
  • ป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี และ 15-24 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี มีภาวะอ้วนหรือมีโรคประจำตัว จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะแปรผันตามฤดูกาล โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนตุลาคมจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลง อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่อง ในปีถัดไปได้ ไวรัสเดงกีมี 4 สายพันธุ์ โดยผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เคยเป็นไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นในระยะสั้นประมาณ 3 – 12 เดือน

แพทย์หญิงประอร สุประดิษฐ ณ  อยุธยา นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของผู้ที่เป็นไข้เลือดออกจะมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีผื่น และอาจมีภาวะเลือดออก ที่พบบ่อย คือ จุดเลือดออกที่ผิวหนัง รองลงมา คือ เลือดกำเดา และอาเจียนปนเลือด และในรายที่มีภาวะช็อกรุนแรงจะพบตับวาย ไตวาย หรือเลือดออกมากและเสียชีวิตได้ 

เมื่อพบว่าทารกหรือเด็กเล็ก มีอาการไข้ 2 – 3 วัน โดยไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วยชัดเจน เช่น ไม่มีไอ ไม่มีน้ำมูก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและอาจตรวจหาเชื้อไวรัส และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การป้องกันโรคไข้เลือดอออกที่สำคัญ คือ ป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย แหล่งน้ำขังในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรติดตามอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรไปพบแพทย์ วัคซีนไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนไข้เลือดออกที่มีในประเทศไทยในปัจจุบัน มี 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่งแนะนำให้ฉีด ช่วงอายุ 6 – 45 ปี ในผู้ป่วยที่มีหลักฐานยืนยันว่าเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแล้ว และชนิดที่ 2 แนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 4-60 ปี โดยไม่จำเป็นต้องติดเชื้อมาก่อน