ไก่ไทยตีปีกเอฟทีเอดันส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง

  • เหตุหลายประเทศคู่เอฟทีเอลด-เลิกเก็บภาษีนำเข้า
  • จีนโตสุด290%ตามด้วยเกาหลีใต้-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น
  • ไก่แปรรูป-ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งสินค้าดาวเด่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 62 พบว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกไก่ของไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าส่งออกไปตลาดโลกได้สูงถึง 3,116 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเดียวกันของปี 61  โดยในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปยังประเทศคู่เอฟทีเอ 2,237 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วน 72% ของการส่งออกไก่ของไทยไปตลาดโลก เพิ่มขึ้น 9% สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น จีน ขยายตัว 290% มูลค่าส่งออก 190 ล้านเหรียญฯ,  เกาหลีใต้ ขยายตัว 41% มูลค่า 147 ล้านเหรียญฯ, ฮ่องกง ขยายตัว 5% มูลค่า 59 ล้านเหรียญฯ และญี่ปุ่น ขยายตัว 3% มีมูลค่าส่งออก 1,636 ล้านเหรียญฯ โดยสินค้าส่งออกดาวเด่น มีทั้งไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลกมากว่า 15 ปี และในช่วง 11 เดือน ไทยส่งออกไก่แปรรูป 2,392 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นกว่า 7%

“นอกจากเอฟทีเอ มีส่วนผลักดันให้การส่งออกไก่เพิ่มขึ้น เพราะประเทศคู่เอฟทีเอลด และยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไก่จากไทยแล้ว ผู้บริโภคยังให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ทันสมัย ระบบฟาร์มมีประสิทธิภาพ ควบคุมป้องกันการแพร่กระจายโรคระบาดได้ดี รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมา มีโรคอหิวาห์หมูระบาดในจีน และเวียดนาม ทำให้ผู้บริโภคในต่างประเทศหันมานำเข้าและบริโภคไก่ของไทยแทน”

สำหรับเอฟทีเอของไทย 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีประเทศคู่เอฟทีเอที่ได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไก่ทุกรายการของไทยแล้ว 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาวและฮ่องกง ส่วนอีก 6 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู และเวียดนาม ได้ลดการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไก่บางส่วน และคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการสินค้า สำหรับสหภาพยุโรป (อียู) แม้ปัจจุบัน ยังไม่มีเอฟทีเอกับไทย แต่ได้จัดสรรโควตานำเข้าไก่ให้ไทยเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ไก่ของไทยที่ส่งไปอียูภายใต้โควตาจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าปกติ