ในหลวง มีพระราชดำรัส การใช้กฎหมายเพื่อผดุงรักษาความยุติธรรม ต้องใช้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง


เมื่อเวลา 15.24 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา นำ ผู้พิพากษาประจำศาล เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายภีม ธงสันติ เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมเข้าเฝ้าฯ ด้วย

การนี้ พระราชทานพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ ความว่า คนเราเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศ ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างเป็นปกติ ความสงบสุขของประเทศจึงไม่ได้เกิดจากการที่ไม่มีความขัดแย้ง แต่อยู่ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นคราวใด ก็สามารถคลี่คลายลงได้ด้วยความยุติธรรม จึงกล่าวได้ว่า ความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของความสงบสุข หากปรารถนาจะให้ประเทศมีความสงบสุข ก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ท่านทั้งหลายผู้เป็นผู้พิพากษา มีหน้าที่โดยตรงในการธำรงรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินจึงต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณของตนอย่างเคร่งครัด และตั้งใจพิจารณาเรื่องราวข้อขัดแย้งต่างๆ ด้วยวิจารณญาณที่ถูกต้อง

ในการนี้ ความรู้ในตัวบทกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ทุกคนก็จำเป็นต้องสำนึกตระหนักด้วยว่า การใช้กฎหมายเพื่อผดุงรักษาความยุติธรรมให้ได้แท้จริงนั้น ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง โดยไม่สวนทางกับศีลธรรม จริยธรรม ของมนุษยธรรม ถ้าทำได้ดังนี้ท่านก็สามารถรักษาคำปฏิญาณที่จะธำรงความยุติธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญแห่งความสงบสุขของประเทศได้สำเร็จสมบูรณ์

ต่อมาเวลา 15.39 นาที พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด นำอัยการประจำกอง เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นายสมศักดิ์ เวทย์วิไล รองอัยการสูงสุด นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ และนายรมย์ศักย์ ธรรมชัยเดชา เลขานุการอัยการสูงสุด ร่วมเข้าเฝ้าฯ ด้วย

การนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า ท่านทั้งหลายเมื่อมาถวายสัตย์ปฏิญาณตน ย่อมมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จผลสูงสุด สมดังคำปฏิญาณ การจะทำให้ได้ดังที่ตั้งใจนั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และวิจารณญาณที่ถูกต้อง ประกอบกับความรู้จะทำให้แต่ละคนมีความแม่นยำในหลักวิชาและตัวบทกฎหมาย ความสามารถจะช่วยให้นำความรู้ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมถูกต้องตามสถานการณ์และความเป็นจริง ประสบการณ์จะช่วยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญที่สร้างสมขึ้น และสามารถนำมาใช้ให้บังเกิดผล วิจารณญาณจะช่วยให้สามารถพิจารณาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม

จึงขอให้อัยการทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถประสบการณ์ และวิจารณญาณอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จะได้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน และธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ดังที่ให้คำสัตย์ปฏิญาณไว้

เวลา 15.50 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำตุลาการศาลทหาร เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ พลเอกประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ และพลโท สุรเชษฐ์ เจริญปรุหัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด ร่วมเข้าเฝ้าฯ ด้วย

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า ท่านทั้งหลายย่อมมีหน้าที่ทั้งในฐานะทหารคือรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และในฐานะตุลาการคือรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า หน้าที่ของท่านได้แก่การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศด้วยการธำรงความยุติธรรมในแผ่นดิน เรื่องความมั่นคงปลอดภัย กับความยุติธรรมนี้ ทุกท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างมาก

เนื่องด้วยความยุติธรรมเป็นปัจจัยข้อใหญ่ที่ทำให้ชาติบ้านเมืองมีความมั่นคงปลอดภัย เป็นที่พึ่งที่อาศัยที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก สงบ จึงขอให้ทุกท่านสำนึกตระหนักในความสำคัญของหน้าที่ตนอยู่เสมอ แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงโดยเต็มกำลังความรู้ความสามารถ อันจะเป็นการรักษาคำสัตย์ที่ท่านได้ปฏิญาณไว้ได้อย่างเที่ยงแท้บริบูรณ์