โอกาสส่งออก “ไก่ไทย” หลังไข้หวัดนก…ฉุดผลผลิตคู่ค้า

  • คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปี 2566
  • อยู่ที่ 4.18-4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5%-4.5%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ว่า ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์ไก่ อาจเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารของไทยที่ยังเติบโตได้ เนื่องจากสถานการณ์ไข้หวัดนกในปีนี้ พบการระบาดอย่างหนักในบางประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมถึงมีการแพร่ระบาดไปในเขตอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและฟาร์มเพาะเลี้ยงในแถบทวีปอเมริกาใต้เพิ่มขึ้น เช่น ชิลี อาร์เจนตินา ที่ถูกพบการระบาดเป็นครั้งแรก  จึงเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจการผลิตไก่ให้ลดลงมากกว่าปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยการฟื้นตัวของกำลังการผลิตไก่หลังจัดการปัญหาการระบาดได้แล้วที่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ขณะที่ประเทศบราซิล และไทย ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รายสำคัญของโลก  ยังไม่พบสถานการณ์ไข้หวัดนก  ดังนั้นอานิสงส์ต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยคงมี แต่น่าจะไม่มากท่ามกลางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 4.18-4.26 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5%-4.5% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง ญี่ปุ่นและอังกฤษ มีแนวโน้มชะลอตัว

อย่างไรกีดี ด้วยแรงซื้อที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในกลุ่มไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากจีนจากการเปิดประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าไก่ไทยผ่านการเจรจาทางการค้าและการให้การรับรองโรงงานในไทย เช่น เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนความต้องการสินค้าไก่ที่มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ อาทิ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อาจผลักดันให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไก่ไทยในปีนี้ยังเติบโตในแดนบวกได้ แต่ความท้าทายของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยคือ การแข่งขันด้านราคาในตลาดคู่ค้ามีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น โจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการจึงอยู่ที่การรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ควบคู่กับการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ