โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรถไฟสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี” โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา” และสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งกระทรวงคมนาคม ว่า ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว ล่าสุดได้มีหนังสือแจ้งจากสำนักพระราชวังถึงกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ ดังนี้

  1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า นครวิถี อ่านว่า นะ-คอน-วิ-ถี (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง
  2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า ธานีรัถยา ทา-นี-รัด-ถะ-ยา (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง
  3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อ่านว่า สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

นายอนุชาฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือ Soft Opening เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 และให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันแรก ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากกว่าวันละ 22,000 คน โดยรถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือ RED Line เป็นรถไฟฟ้าที่ทันสมัย ถูกออกแบบความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม. ดำเนินการโดย รฟท. และมีบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ซึ่งทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมือง ตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่องสามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบรางที่มีประสิทธิภาพ เส้นทางให้บริการ รวม 13 สถานี อัตราค่าโดยสาร เริ่มต้น 12-42 บาท เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 น.-24.00 น. โดย รฟท. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รถไฟชานเมืองสายสีแดงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมมากกว่า 3 ล้านคน และมีผลการสำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากยิ่งขึ้น

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ได้เปิดให้บริการรองรับผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อ อีกทั้งในอนาคตจะรองรับรถไฟความเร็วสูง ทำให้สถานีแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของไทย เชื่อมโยงทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยสถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ 2,475 ไร่ (รวมพื้นที่โดยรอบ) มีพื้นที่ใช้สอย 304,000 ตารางเมตร มี 24 ชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล (8 ชานชาลา) รถไฟความเร็วสูง (10 ชานชาลา) รถไฟฟ้าชานเมือง (4 ชานชาลา) แอร์พอร์ตเรลลิงก์และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (2 ชานชาลา) รองรับผู้โดยสารประมาณ 624,000 คน-เที่ยว/วัน (ปี 2575) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานนาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับการจัดพิธีเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการนั้น ร.ฟ.ท. ประเมินว่าจะดำเนินการได้ภายในต้นปี 2566 เนื่องจากต้องเตรียมติดตั้งป้ายชื่อพระราชทาน รวมไปถึงเร่งเปิดประมูลร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์หรือสถานีกลางบางซื่อเดิม จะเป็นศูนย์กลางระบบราง Landmark แห่งใหม่ของประเทศ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจุดเชื่อมต่อทุกระบบราง โดยรัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง ให้การคมนาคมขนส่งทางราง เป็นการเดินทางและขนส่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยที่สุด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้างานพัฒนาทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้า เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า พัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง พลิกโฉมระบบรางของไทยด้วยรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาระบบการคมนาคมทางรางของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาระบบการคมนาคมทางรางให้เป็นระบบหลักของประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง สร้างโอกาส และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค เพื่อความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว