แบงก์ชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้ถึงปีหน้ายังขยายตัวต่อเนื่อง

.ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อแบบฟุบ

.เกาะติดครัวเรือนรายได้น้อย เอสเอ็มอี ที่การเงินเปราะบาง

.มองโอมิครอน -ยูเครน กระทบไทยไม่มาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินภาพเศรษฐกิจไทย ในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2565 ของธปท. โดยยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation หรืออัตราเงินเฟ้อสูง แต่เงินฝืดจากการขยายตัวที่ต่ำ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การระบาดของโควิด สายพันธุ์โอมิครอนกระทบเศรษฐกิจไม่มาก ขณะที่ผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยตรง 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมีบริบทที่แตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในวัฎจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกับสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แรงกดดันเงินเฟ้อจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจึงยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้นสถาการณ์เงินเฟ้อของไทยยังแแตกต่างกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาที่เคยเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่สูงมากในอดีต นอกจากนี้ ไทยยังมีกลไกดูแลด้านราคา เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งธปท.จะติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากค่าครองชีพและต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจเอสเอ็มอีที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการ บริโภคภาคเอกชนและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปได้ โดย กนง.เห็นควรให้เร่งผลักดันมาตรการที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อลดทอนความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินและเพื่อไม่ให้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกจากนั้น กนง.ยัง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงหรือขยายวงกว้าง อาจนำไปสู่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่สร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ (global supply disruption)  ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติเทียบก่อนการระบาดของโควิด-19 หรือเกิดการแบ่งขั้วการค้าและการลงทุนในโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และกระทบต่อการตัดสินใจลดหรือเพิ่มการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว