เพื่อไทยมีมติยื่นเพิ่ม 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ–ปิดทางนายกฯคนนอก-ยกเลิกคำสั่งคสช.- เลือกตั้งบัตร 2 ใบ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค และ นายโภคิน พลกุล คณะทำงานยุทธศาสตร์พรรค ร่วมกันเเถลงผลการประชุม ส.ส.พรรค เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายสมพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีติจะยื่นร่างแก้ไข 4 ญัตติ เพิ่มเติมจากญัตติที่ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการเสนอแก้มาตรา 256 ที่เปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย 4 ญัตติที่เสนอมาใหม่ ประกอบด้วย 1.เเก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้เพิ่มเติมมาตรา 159 โดยการเลือกนายกรัฐมนตรีสามารถเลือกนอกบัญชีได้แต่ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพื่อปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก 2.แก้ไขมาตรา 270 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร

นายสมพงษ์ กล่าวว่า 3.การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83 , 85 , 90 , 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือใช้บัตร 2 ใบเลือกคนและเลือกพรรค

ส่วนนายโภคิน พลกุล คณะทำงานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่มีการเสนอญัตติเพิ่ม เนื่องจากในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มีหลายมาตราที่ยังคงเป็นปัญหา และเหตุที่พรรคเพื่อไทยยื่นแก้ไขมาตรา 272 คนละญัตติกับพรรคก้าวไกล เพราะแม้จะให้ ส.ว.ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เสนอมา ต้องมาจากการเป็น ส.ส.เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก ขณะเดียวกันยืนยันว่าพรรคไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ตามที่มีกระเเสข่าวลือปฏิวัติในช่วงนี้

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า ญัตติที่เสนอทั้งหมด สมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นชอบและเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดัน ด้วยการร่วมเสนอญัตติและพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ ได้ไม่เกินวันที่ 10 กันยายน 2563 ขณะเดียวกันขอความร่วมมือร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญทันที หลังปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 24 กันยายนนี้ เพื่อเร่งให้แล้วเสร็จวาระ 3 เดือนตุลาคมนี้