“เพื่อไทย”จับขั้วใหม่ตั้งรัฐบาล ร่วม”ภูมิใจไทย-พปชร.”ก้าวพ้นกับดัก ม.112

  • เศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกฯคนที่ 30
  • จับคู่ 6 – 7 พรรค“ลุ้น”เสียง 272
  • เริ่มทำงานสัปดาห์แรกค่าแรง 380

มองข้ามช้อตการเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มาดูบริบทใหม่ของการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แกนนำเบอร์ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะความคาดหวังในการมองหาพรรคร่วมรัฐบาลที่จะไม่ฝากความหวังไว้กับพรรคอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกล และ MOU เดิมในกลุ่ม 8 พรรคการเมืองอีก

นัยสำคัญของบริบทใหม่นี้ แม้พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการจะแยกทางเดินกับพรรคก้าวไกล แต่อุปสรรคของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 ทำให้การทำงานการเมืองในอนาคต ยากจะหาผู้สนับสนุนได้ จึงจำต้องหันไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นอย่างช่วยไม่ได้

พรรคการเมืองใหม่ที่มีแนวโน้มจะรวมกันจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย อีก 1 เสียง เท่ากับ 272 เสียง

ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “ลุงป้อม”หัวหน้าพปชร. และแคนดิเดตนายกฯ อาจจำเป็นต้องลาออกไป เพื่อให้พรรคสามารถเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนคิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยประกาศบนเวทีไว้ว่า เพื่อไทยจะไม่ร่วมงานกับเผด็จการเดิมอีก

มีคำถามว่าการลาออกของ “ลุงป้อม” มีเหตุผลเพียงพอจะอธิบายให้เจ้าของคะแนนเสียง 141 ที่ให้กับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยตอบกลับทันทีว่า ตัวอย่างจากการไม่ยอมจำนนกับเรื่องใดเลย จะทำให้เพื่อไทยทำงานไม่ได้

ในขณะที่เตรียมตัวมาอย่างดีว่า สัปดาห์แรกที่เข้าไปเป็นรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่ ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 380 บาทสำหรับแรงงานทั่วไป ให้บัตรเติมน้ำมันแก่แท็กซี่ เปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน อาจทดลองกำหนดระยะเวลาพำนักในประเทศไทยในเบื้องต้นก่อน แก้ปัญหา Slot การบินในจังหวัดสำคัญๆใหม่ และเร่งยุติปัญหาการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาโดยเร็ว

“พรรคเพื่อไทยยังอยากจะทำเรื่อง ดิจิทัล วอลเลท ให้คนมีเงินติดกระเป๋าก่อนคนละ 10,000 บาทด้วย แต่จะต้องกลับไปคิดให้ละเอียดว่าจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้คณะกรรมการบริหารในพรรค รวมถึงพรรคร่วมเห็นด้วย”

ส่วนเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอีกเรื่องก็คือ พรรคไหนจะได้กระทรวงใดบ้าง ยังต้องให้คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆก่อนว่า แต่ละพรรคมีความต้องการอย่างไร

สำหรับพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสิทธิให้รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง คาดหวังว่า กระทรวงเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะต้องเป็นสิทธิของเพื่อไทย ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

กระทรวงสำคัญที่จะเสนอให้พรรคภูมิใจไทยไปอาจจะเป็นกระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การหารือกันในประเด็นจัดสรรกระทรวงจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง

สำหรับกระทรวงการคลัง มีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคร่วมกันพิจารณา เช่น นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคนสุดท้ายคือ นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

สำหรับนายอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ไทยพาณิชย์ จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ MBA ไฟแนนซ์ จากสถาบันศศินทร์ และ Wharton School ,U of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอายุ 55 ปี

นายผยง ศรีวณิช CEO กรุงไทย จบการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์จาก U of Arisona,สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทบริหารธุรกิจ Pittdburgh, Pennsylvania สหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงาน แอปพลิเคชัน“เป๋าตัง” G-wallet คนละครึ่ง และกรุงไทย next อายุ 55 ปี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยมอันดับสูงสุดของ Swarthmore College สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท และเอกจาก Yale สหรัฐอเมริกา เช่นกัน ปัจจุบันอายุ 57 ปี ทำงานกับเวิลด์แบงก์ก่อนจะกลับมาช่วยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรมว.คลัง ในการแก้ปัญหาต้มยำกุ้ง

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง จบการศึกษาบริหาร ธุรกิจบัณฑิต(การบัญชี) เทคโนโลยีราชมงคล ปรัชชาดุษฏีบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ปัจจุบัน อายุ 65 ปี