เปิดรายชื่อ “ส.ว.-ส.ส.”ใครเงียบ-หาย-โหวตคว่ำวาระ 3 แก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ถึงการลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค.ว่า มีเสียงเห็นชอบให้แก้ไข 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง ถือว่ามีเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 737 คน ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา

ทั้งนี้จากการตรวจสอบการลงมติ พบว่า ในส่วนคะแนนเห็นชอบ 208 เสียงนั้น เป็นของ ส.ส.206 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอีก 2 เสียง เป็นของ ส.ว.ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ นายพิศาล มาณวพัฒน์ ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ส.ว.ที่เคยลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ ขณะที่คะแนนเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 จำนวน 4 เสียงนั้น เป็นของ ส.ว.ทั้งหมด คือ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม , นพ.พลเดช ปิ่นประทีป , นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา และ นายเสรี สุวรรณภานนท์

ขณะที่การโหวตงดออกเสียง จำนวน 94 เสียงนั้น แบ่งเป็น ส.ส.10 เสียง และ ส.ว.84 เสียง ในส่วน ส.ส.ที่งดออกเสียง ส่วนใหญ่เป็นของพรรคพลังประชารัฐ อาทิ นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. , นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ , นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.รวมถึง นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

ขณะที่ในส่วนของ ส.ว.ที่งดออกเสียง อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย , พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชา , นายจเด็จ อินสว่าง , พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ , พล.อ.ดนัย มีชูเวท พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ , พล.อ.อ.ประจิน จันตอง , นายสมชาย แสวงการ , พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร , นายวิทยา ผิวผ่อง , พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ , นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ส่วนคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง เป็นของ ส.ส.9 เสียง และ ส.ว.127 เสียง ในส่วนของ ส.ส.ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน อาทิ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นางเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา , นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ , นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย , นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม

ส่วน ส.ว.ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก , นายคำนูณ สิทธิสมาน , นายเจตน์ ศิรธรานนท์ , พล.อ.นพดล อินทปัญญา , พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ที่วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมลงมติวาระ 3 แล้ว ยังพบว่า มี ส.ส.อีก 200 กว่าคน และ ส.ว.อีก 33 คน ที่ไม่ขานมติลงประชุมใดๆ เลย อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ , น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ , น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม , นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ , น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. , น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว , นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ , นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่

สำหรับ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่มีรายชื่อเข้าร่วมประชุม เนื่องจากลาป่วย เพราะลำไส้อักเสบและเกิดสภาวะเลือดจาง โดยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่คืนวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันยังมี ส.ส.เพื่อไทยอีก 26 คน ที่ไม่ยอมขานมติใดในการโหวตวาระ 3 สวนกับมติพรรคที่ให้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. , นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ , นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม , น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. , นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคก้าวไกล บางส่วนที่ไม่ร่วมขานชื่อลงมติในการลงมติ อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี , นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ขานชื่อในการลงมติเช่นกัน อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง , นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก , นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร รวมถึง 5 ส.ว.โดยตำแหน่งจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. , พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. , พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. , พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ก็หายเงียบไม่ร่วมลงมติครั้งนี้เช่นกัน