เตรียมขึ้นทะเบียนจีไอของดีจังหวัดยะลา

กรมทรัพย์สินทางปัญญารับลูกนายกฯ เตรียมขึ้นทะเบียนจีไอ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” จ.ยะลา

  • ปลานิลสายน้ำไหลเบตง-ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา
  • หลังกลุ่มเกษตรกรยื่นคำร้องขึ้นทะเบียนกับ “เศรษฐา”
  • มั่นใจสินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้สู่เกษตรกร

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดยะลา ว่า นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มอบนโยบายให้กรมเร่งผลักดันสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นสิทธิของชุมชน ผ่านการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ และทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรปลานิลสายน้ำไหลเบตงและปลาพลวงชมพูฮาลาบาลาได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอ กับนายกฯ ซึ่งกรมจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคำขอต่อไป

นอกจากนี้ กรมได้จัดกิจกรรมสุดพิเศษ โดยเชิญเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟระดับมิชลิน ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาร่วมรังสรรค์เมนู “พริกขิงปลานิลสายน้ำไหลเบตง” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตงนึ่งมะนาวส้มจี๊ดสมุนไพรไทย” เพื่อโปรโมตปลานิลสายน้ำไหลเบตงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และส่งมอบให้เป็นเมนูแนะนำประจำร้าน อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร้านอาหารในพื้นที่นำปลานิลสายน้ำไหลเบตงมาเป็นวัตถุดิบทำเมนูต่างๆ อีกด้วย

สำหรับ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” เพาะเลี้ยงมากในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรีของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และเลี้ยงในบ่อที่มีกระแสน้ำที่ไหลตลอดเวลา ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำสูงกว่าบ่อปลาทั่วไป จึงทำให้ปลานิลสายน้ำไหลเบตงมีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวเล็ก เนื้อปลาแน่น สีขาวละมุน รสชาติหวาน ไม่มีกลิ่นโคลน ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ราคาขาย 300 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วน “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” เป็นปลาท้องถิ่นหายาก มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากต้นน้ำป่าฮาลาบาลา และเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลักษณะเด่นคือลำตัวมีสีชมพู ครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง เนื้อปลานุ่มมีสีขาวเหมือนสำลี รสชาติหวานอร่อย เกล็ดมีสารคลอลาเจนจึงนิยมทานทั้งเกล็ด มีราคาสูงถึง 3,000 – 3,500 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงอย่างน้อย 2-3 ปี จึงจะขายได้ โดยปลาทั้ง 2 ชนิด สร้างมูลค่าการตลาดให้กับจังหวัดรวมกว่า 44 ล้านบาทต่อปี