‘เขื่อนเจ้าพระยา’ระบายน้ำเพิ่ม เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนรับมือปริมาณน้ำสูงสุดปลายเดือนนี้

วันที่ 23 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ฝนที่ตกหนักทางภาคเหนือตอนล่างและในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในวันนี้น้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 1,962 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.เมืองชัยนาท ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 16.50 เมตร(รทก) น้ำระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,749 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 139 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา น้ำสูงขึ้น 43 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 13.47 เมตร(รทก) ส่วนน้ำที่ส่งเข้าระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกและวันตะวันออก มีปริมาณรวมกัน 412 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2564 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เนื่องจากประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 20-26 กันยายน 2564 จะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด บริเวณสถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 28 กันยายน 2564 และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2564

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผงและคลองบางบาล รวมทั้งปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที