อานิสงส์เอฟทีเอ!ไทยแชมป์อาเซียนส่งออกสินค้าเกษตร

  • พ่วงอันดับ 3 อาเซียนส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป
  • ยอดส่งออก 2 สินค้าพุ่งสวนทางเศรษฐกิจโลกชะลอ
  • พาณิชย์แนะใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกสร้างแต้มต่อ

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรก (เดือนม.ค.-มี.ค.) ปี 66 ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีมูลค่า 41,216 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 65 ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 9 ของโลก แม้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ทำให้การส่งออกชะลอตัวเล็กน้อย

แต่หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขยายตัวได้ดีกว่าการส่งออกไปประเทศที่ไทยไม่มีเอฟทีเอ โดยสินค้าเกษตรส่งออกไปคู่เอฟทีเอ 4,106 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3% สัดส่วน 69.7% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ขณะที่ส่งออกไปประเทศไม่มีเอฟทีเอ หดตัว 6% ส่วนสินค้าเกษตรแปรรูป 4,162 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 11.4% สัดส่วน 70% ของการส่งออกเกษตรแปรรูปทั้งหมด แต่ส่งออกไปประเทศไม่มีเอฟทีเอ เพิ่มเพียง 6%

“การส่งออกสินค้าทั้ง 2 กลุ่มมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เพีราะจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อีกทั้งสินค้าไทยมีศักยภาพส่งออก เป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอส่งออกอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สร้างจุดเด่นให้กับสินค้า และแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ เพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจ”

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่นผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 60% ตลาดที่ขยายตัว เช่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย, ข้าว เพิ่ม 30% ขยายตัวดีที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์, ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 56% ขยายตัวดีที่จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 4% ขยายตัวดีที่ ญี่ปุ่น ชิลี กัมพูชา เป็นต้น

“เอฟทีเอถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก ปัจจุบัน ประเทศคู่เอฟทีเอได้ยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยแล้ว ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ กรมจะเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) สมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) แคนาดา ตุรกี ศรีลังกา และปากีสถาน รวมทั้งจะเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ได้แก่ กลุ่มอ่าวอาหรับ (จีซีซี) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา เพื่อสนับสนุนการส่งออกของไทยในอนาคต”