อังค์ถัดปลื้ม!การค้าโลกไตรมาสแรกปี 64 ทะยาน

  • หลังคนแห่ซื้อสินค้าป้องกันโควิดและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง 
  • ดันมูลค่าส่งออกประเทศเอเชียตะวันออกพุ่งแรง 
  • คาดปี 64 การค้าสินค้าและบริการโลกโตได้แน่ 16% 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ได้เผยแพร่รายงานการค้าล่าสุด โดยพบว่า การค้าโลกในไตรมาสนี้ ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 แล้ว โดยขยายตัวถึง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 63 และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 63 

นายอเลสซานโดร นิซิตา นักเศรษฐศาสตร์ อังค์ถัด ซึ่งจัดทำรายงานดังกล่าว กล่าวว่า การฟื้นตัวดังกล่าว มาจากการส่งออกสินค้าของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เพราะความต้องการสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การค้าทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฟื้นตัวเร็วกว่าการค้าโลกที่ถดถอยใน 2 ครั้งที่ผ่านมา หรือในปี 52 และปี 58 ส่วนการค้าสินค้าบริการ ยังไม่ฟื้นตัว 

“ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดปลายปี 62 การค้าโลกใช้เวลาเพียง 4 ไตรมาสในการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และขยายตัวมากกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ด้วยซ้ำ โดยไตรมาสที่ 5 ของการระบาด หรือไตรมาสแรกปี 64 การค้าโลกขยายตัวได้ถึง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 62 แต่ในทางกลับกัน การค้าโลกในปี 58 ที่ซบเซาลงจากผลกระทบของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมาก ต้องใช้เวลนานถึง 13 ไตรมาสกว่าจะฟื้นตัว และการค้าโลกที่ถดถอยมากในปี 52 จากผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางการเงินโลก ใช้เวลา 9 ไตรมาสกว่าจะฟื้นตัวได้” 

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าว ยังพบว่า การนำเข้า และส่งออกของประเทศเศรษฐกิจสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ฟื้นแล้ว โดยเฉพาะจีน ที่ไตรมาสแรกปี 64 การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 20% จากไตรมาสแรกปี 63 และนำเข้าเพิ่มขึ้น 22%, อินเดีย ส่งออกเพิ่ม 26% นำเข้าเพิ่ม 45%, ญี่ปุ่น ส่งออกเพิ่ม 16% นำเข้าเพิ่ม 11%, เกาหลีใต้ ส่งออกเพิ่ม 19% นำเข้าเพิ่ม 18% เป็นต้น

ขณะที่เมื่อแยกเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา พบว่า ประเทศกำลังพัฒนา ส่งออกเพิ่มขึ้น 22% นำเข้าเพิ่ม 18% แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ส่งออกเพิ่ม 7% และนำเข้าเพิ่ม 12% ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมาก เช่น อุปกรณ์สำนักงาน เพิ่ม 38% คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 37% สิ่งทอ เพิ่ม 28% เสื้อผ้า เพิ่ม 20% ยานพาหนะ เพิ่ม 16% อาหาร เพิ่ม 17% เป็นต้น 

สำหรับแนวโน้มการค้าโลก ในปี 64 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของประเทศเอเชียตะวันอก และประเทศกำลังพัฒนา คาดว่า ไตรมาส 2 มูลค่าการค้าสินค้า และบริการ จะสูงถึง 6.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าโลกตกต่ำสุด และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนทั้งปี 64 คาดการค้าโลกจะเพิ่มขึ้น 16% จากปี 63 

“แต่แนวโน้มการขยายตัวของการค้าโลก ขึ้นอยู่กับการลดข้อจำกัดของการแพร่ระบาด แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ รวมถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการคลังของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญตลอดทั้งปีนี้ ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจ และการค้าโลกฟื้นตัวได้” 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การส่งออกของไทยขยายตัวสอดคล้องกับรายงานขงอังค์ถัด โดยในไตรมาสแรกปี 64 มีมูลค่า 64,148.03 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น  2.27% จากไตรมาสแรกปี 63 การนำเข้า 63,632.37 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9.37% เกินดุลการค้า 515.66 ล้านเหรียญฯ ส่วนเฉพาะเดือนมี.ค.64 ส่งออกมีมูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 8.47% จากเดือนมี.ค.63 การนำเข้า 23,511.65 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 14.12% และได้ ดุลการค้า  710.80 ล้านเหรียญฯ